เขื่อนกั้นน้ำริมฝั่งแม่น้ำโก-ลก แก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก (ชมคลิป)

เขื่อนกั้นน้ำริมฝั่งแม่น้ำโก-ลก การแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากและการส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ชุมชนริมแม่น้ำโก-ลก

 

วันที่ 18 ม.ค.63  แม่น้ำโก-ลก สายน้ำที่เป็นเส้นเลือดสายสำคัญของวิถีชีวิตประชาชนในพื้นที่อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ประเทศไทย และรันเตาปันยัง รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ที่กั้นกลางระหว่างชายแดนประเทศไทย และประเทศมาเลเซีย มีจุดผ่อนปรน และท่าข้ามที่เปิดให้ประชาชนในพื้นที่สัญจรทางเรือข้ามไปมาระหว่างกัน เพราะต่างมีความสัมพันธ์ที่ดีในลักษณะเครือญาติ บ้างก็เดินทางเยี่ยมเยียนไปมาหาสู่กัน บ้างก็ข้ามไปทำงาน หรือแม้กระทั่งนักเรียนที่ข้ามฝั่งไปเรียนในประเทศมาเลเซีย


ในช่วงหน้าฝนของทุกปี ระดับน้ำในแม่น้ำโก-ลกจะเพิ่มปริมาณจนท่วมบ้านเรือนประชาชน และสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ตลอดแนวริมฝั่งแม่น้ำโก-ลก 8 ชุมชนหลายพันครัวเรือนในเขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก
สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนราธิวาสและเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลกจึงเปิดเวทีประชาคมเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วม(เขื่อนกั้นน้ำ)พื้นที่ชุมชนเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลกซึ่งมีความเห็นชอบร่วมกันในการก่อสร้างเขื่อนกั้นน้ำเพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ตลอดแนวริมฝั่งแม่น้ำโก-ลกในเขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก


สำหรับโครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วม(เขื่อนกั้นน้ำ)พื้นที่ชุมชนเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก จะดำเนินการในลักษณะคันกั้นน้ำแบบกำแพงพร้อมถนนคอนกรีตเสริมเหล็กมีบ่อสูบน้ำ ทางลาดพร้อมคันดิน ตลอดแนวริมฝั่งแม่น้ำโก-ลก และกำแพงแอลแบบสอดที่เมื่อสถานการณ์การเกิดอุทกภัยกลับเข้าสู่ภาวะปกติก็สามารถถอดเก็บได้โดยไม่กระทบกับวิถีชีวิตของประชาชน ซึ่งดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่สวนสิรินธรถึงชุมชนตันหยงมะลิ


โดยมีสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำที่ปากคลองบือเร็ง1 และบือเร็ง2 ใช้งบประมาณจำนวนมากกว่า372 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 900 วัน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2563 ทั้งนี้รูปแบบที่วิศวกรได้ออกแบบมาจะเน้นการป้องกันการเกิดอุทกภัยในพื้นที่ เนื่องจากระดับความสูงของกำแพงจากพื้นดินประมาณ 1.20 เมตร เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลกจะรับไม้ต่อในการปรับภูมิทัศน์ และโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว เพราะสามารถเพิ่มพื้นที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโก-ลกให้เป็นจุดชมวิว และการสร้างตลาดการค้าชายแดน ขณะที่ถนนที่ขนานตลอดแนวริมฝั่งแม่น้ำโก-ลกสามารถเป็นเส้นทางท่องเที่ยวสำหรับนักปั่นจักรยานหรือการเดินทางของคนในชุมชนได้ด้วย เพราะจะเชื่อมโยงตั้งแต่บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกไปจนถึงชุมชนตันหยงมะลิ


/////////////////////////////////////////////
ข่าว/กรียา/นราธิวาส

Related posts