ศรีสะเกษ 5 ตำบลโพธิ์ศรีสุวรรณขาดน้ำเร่งเปลี่ยนทางเดินระบบน้ำแก้ปัญหาภัยแล้ง รณรงค์ให้ประชาชนประหยัดน้ำงดการปลูกข้าวนาปรัง (ชมคลิป)

ศรีสะเกษ 5 ตำบลโพธิ์ศรีสุวรรณขาดน้ำเร่งเปลี่ยนทางเดินระบบน้ำแก้ปัญหาภัยแล้ง รณรงค์ให้ประชาชนประหยัดน้ำงดการปลูกข้าวนาปรัง

 

เมื่อวันที่ 22 ม.ค.63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านหนองฮู ต.อีเซ อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ นายบุญประสงค์ นวลสายย์ หน.สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ศรีสะเกษ เปิดเผยว่า จากการที่ขณะนี้มี 5 ตำบล 80 หมู่บ้าน ของ อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ ประกอบด้วย พื้นที่ ต.โดด ต.เสียว ต.หนองม้า ต.ผือใหญ่ และ ต.อีเซ กำลังประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อใช้ผลิตระบบน้ำประปาอย่างหนัก ดังนั้น นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษและคณะหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง

จึงได้ลงพื้นที่ไปติดตามสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งพบว่าท่อส่งน้ำเดิมเกิดสภาพชำรุดและมีน้ำรั่วไหล ไม่สามารถส่งน้ำไปยังแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อทำน้ำประปาของแต่ละตำบลได้ ซึ่งปัญหาดังกล่าว ผวจ.ศรีสะเกษ ได้สั่งการให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดศรีสะเกษ ร่วมกับสำนักงานชลประทานจังหวัดศรีสะเกษ บูรณาการกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 5 แห่ง เร่งจัดหางบประมาณทำการก่อสร้างท่อส่งน้ำใหม่ พร้อมเปลี่ยนทางเดินของระบบน้ำใหม่เพื่อความมั่นคงถาวร โดยไม่ให้ท่อน้ำลอดถนนใหญ่เพื่อป้องกันท่อน้ำแตก

นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า จากการที่ได้ตรวจสอบสภาพปัญหาการขาดแคลนน้ำในเขต อ.โพธิ์ศรีสุวรรณแล้ว พบว่าปริมาณน้ำในลำห้วยทับทัน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตน้ำประปาแจกจ่ายแก่ประชาชนทั้งในเขต อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ และ อ.เมืองจันทร์ ขณะนี้คงมีปริมาณน้ำที่เพียงพอแก่การอุปโภคบริโภคตลอดช่วงหน้าแล้งนี้ ขณะที่สถานีสูบน้ำโนนลาน ซึ่งมีอายุการใช้งานมากว่า 5 ปี ตนได้สั่งการให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดศรีสะเกษ ได้จัดหาเครื่องสูบน้ำสำรอง เพื่อให้สามารถส่งน้ำไปให้ประชาชนได้อย่างเพียงพอกับความต้องการใช้ สำหรับการประกาศพื้นที่ภัยแล้งในพื้นที่นั้น ยังไม่มีการประกาศแต่อย่างใด

ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวต่อไปว่า เนื่องจากสภาพปัญหาภัยแล้งปีนี้ ยังไม่ทราบว่า จะยาวนานกี่เดือนและไม่ทราบว่าจะมีฝนตกลงมาช่วงเวลาใด ดังนั้น ตนจึงได้รณรงค์ให้ประชาชนชาวศรีสะเกษ ได้ช่วยกันประหยัดการใช้น้ำในการอุปโภคบริโภค และขอให้งดทำนาปรัง เนื่องจากว่าจะต้องใช้น้ำมาก โดยขอให้เกษตรกรเปลี่ยนไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทน เช่น ถั่ว และข้าวโพดเป็นต้น////////

ศิริเกษ หมายสุข ผู้สื่อข่าว จ. ศรีสะเกษ

Related posts