ศอ.บต. ร่วมหารือการแก้ไขปัญหาโรคเหี่ยวในกล้วยหินในพื้นที่ จชต.
ที่ ห้องรับรอง 1 อาคารศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ให้การต้อนรับ คณะนักวิจัย คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ นำโดย ดร.ปฏิมาพร ปลอดภัย ในโอกาสหารือเรื่องความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาโรคเหี่ยวในกล้วยหินในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
ทั้งนี้จังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดการระบาดของโรคเหี่ยวในกล้วยหินในพื้นที่ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีการระบาดอย่างรวดเร็วในสภาพอากาศร้อนจัด ความชื้นสูง สามารถเข้าไปทำลายได้ในทุกระยะการเจริญเติบโตทำให้ต้นกล้วยมีใบเหลือง เหี่ยว เนื้อผลและก้านช่อดอกเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล โดยผลจากคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภายใต้โครงการเรื่อง “การจัดการเหี่ยวของกล้วยอย่างยั่งยืน” ทำให้ทราบสถานการณ์ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากโรคในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทราบสายพันธุ์ที่ก่อโรคเหี่ยวในกล้วยหิน จนนำไปสู่การคิดค้นสารทดสอบร่วมจุลินทรีย์ควบคุมการเกิดโรคเหี่ยวส่งต่อไปสู่เกษตรกร โดยการขับเคลื่อนผ่านกลไกความร่วมมือของ ศอ.บต. สำนักงานสภาเกษตรจังหวัดยะลาและคลัสเตอร์กล้วยหินในการแก้ปัญหาการระบาดที่เกิดขึ้น ปัจจุบันโครงการดังกล่าวสามารถดำเนินการได้ตามวัตถุประสงค์และเกิดประโยชน์ต่อพื้นที่
นางสาววศินี อินศฤวคาร นักวิจัยคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ กล่าวว่า วันนี้เป็นการมาเสนอความก้าวหน้าของโครงการและงานที่ได้ดำเนินการมาและโครงการต่อไปที่จะดำเนินการ ทั้งนี้ ในส่วนของ ศอ.บต. ได้เข้ามาดำเนินการช่วยเหลือในเรื่องการจัดอบรมเกษตรกรในพื้นที่ โดยได้มีการให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันโรคเหี่ยวในกล้วยหิน ซึ่งเกษตรกรได้มีการนำไปปฏิบัติจริงในแปลง ตอนนี้สามารถเก็บผลผลิตออกมาสู่ท้องตลาดได้แล้ว ซึ่งก่อนเริ่มโครงการยังไม่มีกล้วยในตลาดแปรรูปเลย เนื่องจากเกิดโรคเหี่ยวในกล้วยหินแต่หลังจากเกษตรกรได้อบรมแล้ว เกษตรกรสามารถปรับตัวและมีการจัดการโรคได้ ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น เพราะสามารถจำหน่ายกล้วยได้
อย่างไรก็ตาม ศอ.บต. จะเดินหน้าผลักดันกล้วยให้เป็นพืชเกษตรฐานรากในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และจะสนับสนุนในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคให้เข้มข้นมากขึ้นเพื่อป้องกันความเสี่ยงในอนาคต รวมทั้งจะส่งเสริมให้เกษตรปลูกกล้วยหินในพื้นที่เพิ่มมากขึ้นเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรอีกด้วย
นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา