สงขลาพร้อมรับแรงงานไทยจากมาเลเซีย พบมีการตั้งแง่ไม่ขอใบรับรองแพทย์จากแรงงานต้มย้ำกุ้ง อ้างไม่สะดวกในการเดินทาง และค่าตรวจแพง
นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เปิดเผยถึงการเตรียมรับมือกับ แรงงานไทยจากชมรมต้มยำกุ้ง ในประเทศมาเลเซีย ที่จะเดินทางกลับเข้ามาใน จังหวัดชายแดนภาคใต้ในวันที่ 18 เม.ย. ที่จะถึงนี้ว่า ในส่วนของ จ.สงขลา นั้น ได้เตรียมพร้อมของเจ้าหน้าที่ฝ่าย ทั้งฝ่ายสาธารณสุข ฝ่ายปกครอง และ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ที่ด่านพรมแดน อ.สะเดา เพื่อทำการคัดครอง สอบสวนโรค ก่อนเข้าสู่ขบวนการกัดตัว 14 วัน โดยมีการเตรียมโรงแรม 2 แห่ง ที่ตั้งอยู่ใน เขตเทศบาลตำบลสำนักขาม อ.สะเดา เป็นที่กักตัว
ในส่วนของตัวเลขมีจำนวนเท่าไหร่นั้น ขณะนี้ยังไม่นิ่ง เพราะต้องมีการส่งข้อมูลจากสถานทูต ในประเทศมาเลเซียมาให้ ซึ่งในวันที่ 16 ทราบว่ามีการลงทะเบียนแล้วเกือบ 100 ราย แต่ยังไม่สามารถแยกได้ว่าเป็นชาว จ.สงขลากี่ราย เป็นของ จังหวัดอื่นๆกี่ราย โดยขบวนการคัดกรองนั้น คนที่กลับเข้ามาเป็นของจังหวัดไหน จังหวัดนั้นต้องรับไปกักตัว แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ได้มีการทำข้อตกลงกับกระทรวงต่างประเทศแล้วว่า แรงงานต้มย้ำกุ้งจากประเทศมาเลเซีย เดินทางเข้ามาทางด่าน อ.สะเดาได้เพียง 100 คนต่อวัน และด่านชายแดนสะเดา จะเปิดด่านตั้งแต่เช้าจนถึงเที่ยงของแต่ละวันเพื่อรับคนจำนวนนี้เท่านั้น
รายงานข่าวจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ประเทศมาเลเซียแจ้งว่า ได้มีการตั้งแง่เพื่อตกรองจากกลุ่มแรงงานในชมรมต้มยำกุ้ง ในประเทศมาเลเซียจำนวน 7,000-8000 คน ในประเทศมาเลเซีย ที่จะไม่ไปขอใบรับรองแพทย์เพื่อใช้เป็นหลักฐานของการตรวจโรคเบื้องต้นจากโรงพยาบาลของมาเลเซีย โดยอ้างว่าค่าตรวจ 30 ริงกิต หรือเป็นเงินไทย 210 บาทแพงแรงงานไทยไม่มีเงิน และไม่มีความสะดวกในการเดินทาง เพราะมาเลเซียปิดประเทศถึงวันที่ 28 เม.ย. ไม่มีรถสาธารณะในการเดินทางไม่สะดวก และเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่าย จึงขอยกเว้นการใช้ใบรับรองแพทย์ ซึ่งทำให้ สถานทูตไทยในกรุงกัวลาลัมเปอร์ต้องเร่งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
ในขณะที่หน่วยงานสาธารณสุข หน่วยงานควบคุมโรคติดต่อเขต 12 จ.สงขลา ได้กล่าวว่าถ้าไม่มีใบรับรองแพทย์จากประเทศต้นทางมาแสดง จะเดินทางกลับเข้าประเทศไม่ได้ ทุกคนต้องผ่านการตรวจโรคและมีใบรับรองแพทย์ จึงจะสามารถเดินทางกลับเข้าประเทศได้ และคนกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มเสี่ยง เราะอยู่ในประเทศมาเลเซีย โดยที่ไม่ได้มีการกันตัวตามหลักของสาธารณสุข หากแพทย์ในมาเลเซียตรวจพบว่าเป็นผู้ติดเชื้อ จะต้องรักษาตัวในประเทศมาเลเซีย ไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้
ในขณะที่หน่วยข่าวความมั่นคงของไทยในประเทศมาเลเซีย เปิดเผยว่า แรงงานไทยที่อยู่ในประเทศมาเลเซีย มีผู้ที่ต้องการกลับประเทศไทยจำนวน5,000-6,000 คน และที่ไม่ต้องการกลับแต่รอเงินเยียวยาในมาเลเซียจำนวน 4,000-5,000 คน และคนที่จะแอบเดินทางด้วยการลักลอบเข้าเมือง ซึ่งเป็น “แนวร่วม” ขบวนการแบ่งแยกดินแดนประมาณ 3,000 คน ซึ่งกลุ่มหลังเป็นหน้าที่ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ในการ สกัดกั้นมิให้ลักลอบเข้าเมือง
แต่อย่างไรก็ตาม มีความพยายามของแรงงานไทย จำนวนมาก ที่ไม่รอการลงทะเบียนกับสถานทูตเพราะยุ่งยาก และรู้ว่าเป็นผู้ที่มีคดีติดตัว ได้พยายามที่จะเดินทางกลับประเทศไทยด้วยการหลบหนีเข้าเมืองตามช่องทางธรรมชาติ โดยในคืนวันที่ 15 ที่ผ่านมา แรงงานเหล่านี้ หลบหนีข้ามฝั่งแม่น้ำสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และถูกเจ้าหน้าที่ ซึ่งเฝ้าระวังแนวชายแดนจับกุมได้ 90 กว่าคน ซึ่งมีรายงานข่าวแจ้งว่า คนกลุ่มนี้มาด้วยกัน 200 คน แยกย้ายกันหลบหนีเข้าเมืองตามแนวชายแดนจังหวัดนราธิวาส และสามารถเล็ดรอดไปได้ 100 กว่าคนด้วยกัน และยังมีอีกจำนวนมาก ที่พยายามกลับเข้าประเทศด้วยวิธีนี้ ซึ่งเสี่ยงต่อการที่จะเป็นผู้แพร่เชื้อมากที่สุด หากเล็ดลอดไปได้โดยไม่ถูกจับกุม
พล.ร.ต. สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศอ.บต.) เปิดเผยว่า ศอ.บต. ในฐานะหน่วยงาน บูรณาการ เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งภายในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และในประเทศเพื่อนบ้าน ได้มีการประสานงานกับทุกหน่วยงานทั้งสถานทูต สถานกงสุล หน่วยงานฝ่ายปกครอง สาธารณสุข เพื่อให้การเดินทางเข้ามาของแรงงานที่คาดว่าจะมี 8,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานจาก”ชมรมต้มยำกุ้ง”จะดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ผู้เดินทางเข้ามาต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบที่กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้กำหนด ซึ่งในการเดินทางกลับมาของแรงงานกลุ่มนี้ ไม่ว่าจะมีมากน้อยอย่างไร ก็ต้องปฏิบัติตามข้อตกลง คือกลับเข้ามาทางด่านชายแดน.สะเดา จ.สงขลา วันละ 100 คน ด่านสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส 100 คน ด่านวังประจัน จ.สตูล 50 คน และด่านเบตง จ.ยะลา 50 คน รวม 300 คนต่อวัน และทุกคนต้องเข้าสู่ขบวนการกันตัว 14 วันถ้าไม่พบเชื้อก็จะให้กลับบ้านได้