ศอ.บต. เปิดเวที ขบวนการสร้างความรับรู้และมีส่วนร่วม เพื่อขับเคลื่อน”เมืองต้นแบบที่ 4” เมืองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต อ.จะนะ เชิญตัวแทนกลุ่มทุนให้ความกระจ่างและตอบข้อสงสัย
ศอ บต. เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรม จะนะ จากภาคเอกชนในพื้นที่ ยันไม่มีการลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอย่างที่หลายฝ่ายกังวล เน้นอุตสาหกรรมสีเขียว ด้านเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นออกโรงชูป้ายอ่านแถลงการณ์ค้านโครงการ และตั้งข้อสังเกตถึงความผิดปกติ และการพยายามรวบรัดสร้างโครงการคล้ายจะทิ้งทวนก่อนสิ้นรัฐบาล
วันที่ 6 มิ.ย. 63 ที่โรงแรมบุรีศรีภู บูติก อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ทางศูนย์อํานวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมกับสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม ชมรมธนาคารไทย ชมรมนักธุรกิจรุ่นใหม่ คณะกรรมการที่ปรึกษา การบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกว่า 150 คน ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ “กระบวนการสร้างการรับรู้และสร้างการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในพื้นที่การขับเคลื่อนโครงการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อําเภอจะนะ จังหวัดสงขลา” หรือเมืองต้นแบบ ที่ 4 เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ( เมืองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ) โดยมีนายชนธัญ แสงพุ่ง รองเลขาธิการ ศอ.บต. เป็นผู้เปิดประชุม และมีตัวแทน ธนาคารแห่งประเทศไทย ( ภาคใต้ ) เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก และตัวแทนของกลุ่มทุน เช่น บริษัทที่พีไอโพลีน เพาเวรอ์ จำกัด ( มหาชน ) เป็นวิทยากร
เพื่อรับฟัง และนําเสนอความคิดเห็น รวมทั้งข้อเสนอแนะต่อทิศทางการพัฒนาระดับอนุภูมิภาค หลังพบว่า สถานการณ์เศรษฐกิจของพื้นที่ที่ผ่านมา ประสบปัญหาทั้งจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากราคาผลผลิตทางการเกษตร อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว อีกทั้งตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาคใต้ในช่วง 2-3 ปี หลัง มีการขยายตัวเพียงร้อยละ 1.3 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของภาคใต้และประเทศไทยโดยรวมที่มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 4 และมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างต่อเนื่อง
โดยประเด็นสำคัญมีการหารือกันถึงเรื่องการรับรู้และสร้างการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในพื้นที่การขับเคลื่อนโครงการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ จ.สงขลา หรือ เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ตามมติของคณะรัฐมนตรีที่มีมาตั้งแต่วันที่ 4 ต.ค. 59 และต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการจัดกรอบการบริหารจัดการและการพัฒนาร่วมกัน
ขณะที่ในส่วนของภาคเอกชนได้มีการนําเสนอข้อมูลแนวทางการพัฒนาโครงการนี้ว่า น่าจะมีการทําท่าเรือเพื่อการพาณิชย์การเป็นศูนย์กลางพลังงานไฟฟ้า รวมทั้งอุตสาหกรรมสีเขียว อุตสาหกรรมฐานชีวภาพ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารปลอดภัย และอุตสาหกรรมขนส่งทางรางที่จะมีบทบาทสําคัญต่อการพัฒนา ประเทศในอนาคตที่ทุกประเทศต่างต้องเชื่อมโยงเข้าหากัน รวมทั้งการเป็นครัวอาหารโลก และพลังงาน
อีกทั้งผู้นำภาคเอกชนที่จะเข้ามาลงทุนทั้ง 2 บริษัท ยังได้แสดงเจตจํานงค์ร่วมกันอย่างชัดเจนในการไม่ลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีตามที่หลายฝ่ายรวมทั้งประชาชนในพื้นที่วิตกกังวล เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกได้เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในยุคหลังโควิด 19 ดังนั้นทางบริษัทเหล่านี้จึงจําเป็นต้องปรับตัว และเปลี่ยนแปลงการทําธุรกิจตามไปด้วย
นอกจากนี้กระบวนการทํางานในระยะต่อไปหลังจากนี้ จะจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นทั้งในส่วนของการปรับผังสีเพื่อรองรับการลงทุน และการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ รวมทั้งการเชิญชวนให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมเข้ามาเสนอความคิดเห็น และให้ข้อเสนอแนะต่างๆอีกด้วย
ซึ่งผู้เข้าร่วมรับฟัง ที่เป็นผู้ท้องที่ ท้องถิ่น ใน อ.จะนะ ในฐานะเจ้าของพื้นที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ตั้งคำถามในประเด็นเกี่ยวกับ การจ้างงานคนในพื้นที่ ผลกระทบที่เกิดขึ้น จะทำการแก้ไขอย่างไร และการให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการการตัดสินใจให้มากกว่าที่ทำอยู่ ในขณะที่นักธุรกิจ นักลงทุนถามในเรื่องของประโยชน์ที่จะเกิดกับทุนในท้องถิ่น ซึ่งวิทยากรบนเวทีได้ตอบประเด็นข้อสงสัย และข้อห่วงใยทุกประเด็นที่มีคำถาม
ทั้งนี้ในช่วงระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน ได้มีกลุ่มเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ประมาณ 30 คน ได้พากันมายืนรวมตัวกันที่บริเวณด้านหน้าโรงแรม เพื่อมาสังเกตการณ์ รวมทั้งชูแผ่นป้ายคัดค้านโครงการ และอ่านแถลงการณ์เรื่อง ยกเลิกโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตจะนะ หยุดสร้างความอัปยศให้กับ ศอ.บต. โดยมีทั้งหมด 5 ข้อ ซึ่งระบุว่า โครงการดังกล่าวนั้น ถูกสร้างขึ้นจากกระบวนการเท็จตั้งแต่ต้น ทั้งนี้การรวมตัวกันของกลุ่มคัดค้านโครงการนี้ได้มีการสลายตัวไปหลังการอ่านแถลงการณแล้วเสร็จ เพื่อแสดงจุดยืนที่จะให้มีการยกเลิกโครงการนี้
ไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล