“ทวี สอดส่อง” ร่วมเวที “ตามหาวันเฉลิม” ย้ำฝ่ายค้านเห็นด้วยและผลักดัน พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหาย เผยร่างเสร็จตั้งแต่ปี 57 แต่ถูก คสช.ยื้อเวลา ขณะที่ สนช.มีกฎหมายใหม่ 412 ฉบับ คำสั่ง คสช. อีก 500 ฉบับ สุดท้าย “ประยุทธ์” ให้ถอนร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้

“ทวี สอดส่อง” ร่วมเวที “ตามหาวันเฉลิม” ย้ำฝ่ายค้านเห็นด้วยและผลักดัน พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหาย เผยร่างเสร็จตั้งแต่ปี 57 แต่ถูก คสช.ยื้อเวลา ขณะที่ สนช.มีกฎหมายใหม่ 412 ฉบับ คำสั่ง คสช. อีก 500 ฉบับ สุดท้าย “ประยุทธ์” ให้ถอนร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้

 

 

พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน (ฝ่ายค้านเพื่อประชาชน) ได้กล่าวในเวทีเสวนา ‘ตามหาวันเฉลิม ‘ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2563 ถึงร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย หรือเรียกสั้นๆว่า กฏหมายป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหาย ว่าผมกับคุณชัยธวัช เลขาธิการพรรคก้าวไกล และพรรคร่วมฝ่ายค้าน เห็นด้วยว่าต้องผลักดันให้เกิดเป็นพระราชบัญญัติขึ้น ในหลักการทั่วไปของกฏหมายที่มีโทษทางอาญา คือ กฏหมายต้องทำให้คนทุกคนได้รับความยุติธรรม, กฎหมายต้องสร้างความเสมอภาคให้กับคนทุกคน, กฎหมายต้องคุ้มครองคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน และการประทุษร้ายต่อเสียชีวิตและร่างกายของบุคคลด้วยวิธีการนอกกฎหมายจะทำไม่ได้เด็ดขาด

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ได้เล่าประสบการณ์ตนเอง ขณะดำรงตำแหน่งเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม เมื่อปี 2552-2554 ว่า “ขณะดำรงตำแหน่งเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรมที่กำกับกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ที่ภายหลังประเทศไทยรับอนุสัญญาเรื่องการต่อต้านการทรมาน เมื่อปี 2550 กระทรวงยุติธรรมโดยกรมคุ้มครองสิทธิ์ฯ เป็นหน่วยดำเนินการศึกษาที่ ผมเป็นประธานการประชุมรับฟังรายงานคืบหน้าเป็นประจำ โดยให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้วิจัย ได้เชิญหลายฝ่ายเข้ามาประชุมระดมสมองความคิดเห็นจากทุกฝ่าย มีแนวคิดเป็น 2 ทาง คือการพยายามเอาเรื่องนี้ไปใส่ในกฎหมายอาญาและวิอาญาที่ขาดหายไป คืออัตราโทษมันจะต่ำเกินไป และไม่มีเรื่องการเยียวยา กับอีกแนวคิด คือร่างพระราชบัญญัติเฉพาะ ต่อมาปี 2554 ผมได้ย้ายไปเป็นเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งเรื่องยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา”

พันตำรวจเอก ทวี กล่าวอีกว่า “คำพูดที่เป็นอมตะ ‘ชนชั้นใดเป็นผู้เขียนกฎหมาย กฎหมายก็มุ่งจะรับใช้ชนชั้นนั้น’ แม้กฏหมายป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหาย จะเป็นเรื่องบังคับให้ต้องมีเพราะประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ แต่จากข้อมูลพบว่ากฏหมายร่างเสร็จตั้งแต่ ปี 2557 เสนอ ครม.ส่งไปกฤษฎีกา และส่งกลับมาให้ ครม.จากนั้นได้ส่งให้สภานิติบัญญัติ หรือ สนช. กฏหมายฉบับนี้ได้ตีไปตีมาวิ่งไปกลับ เพื่อให้ยืนยันถ้อยคำอยู่ตลอดเพื่อประวิงเวลา ประมาณ 7 ครั้ง ในขณะที่ในช่วง สนช. นั้น มีกฎหมาย หรือ พระราชบัญญัติถูกตราขึ้นใหม่ ประมาณ 412 ฉบับ ยังไม่นับรวมคำสั่ง ประกาศ คสช. และหัวหน้า คสช.อีกประมาณ 500 ฉบับ ซึ่งมีกฎหมายมากส่งพิจารณาให้รัฐบาลและ สนช.ภายหลัง ร่าง พรบ.ป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหายฯ

“ท้ายที่สุด พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีมติ ครม.ให้ถอนร่าง ป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหายเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562 เอามาเริ่มต้นใหม่ แสดงถึงการขาดความจริงใจและไม่ต้องการให้กฎหมายฉบับนี้เกิด เห็นว่า กฏหมายสามารถรับใช้อำนาจเผด็จการได้นั้นเอง เพราะเผด็จการมีมุมมองเรื่องความมั่นคงของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐอยู่เหนือความมั่นคงของประชาชน”

“พรรคฝ่ายค้านมีความเห็นร่วมกันว่าจะเสนอกฎหมายและสนับสนุนภาคประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบ นักสิทธิมนุษยชนที่ผลักดันให้เกิดกฏหมาย ป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหาย ด้วย”

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง กล่าวอีกว่า “ในเรื่องกฏหมาย รัฐบาลไทยหรือคนในกระบวนการยุติธรรมส่วนใหญ่มีวิธีคิดอยู่ในกรอบที่เรียกว่า Crime control model คือเจ้าหน้าที่จะมุ่งควบคุม ปราบปราม อาชญากรรมเป็นสำคัญ แต่ถ้าเป็นหลักการประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และภาคประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย จะมีแนวคิดที่เรียกว่า due process model คือต้องเน้นหนักถึงความเป็นธรรม การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ การให้ความสำคัญของกระบวนการและขั้นตอนที่ชอบโปร่งใสไม่ไปละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”

“ความจริงทั้ง 2 รูปแบบต้องการค้นหาความจริงเป็นเป้าประสงค์สุดท้ายเหมือนกัน ที่ต่างกันคือ วิธีแรกถ้าอย่างไรเอาความจริงให้เกิด แม้จะทรมานก็ได้เพื่อความจริง สมัยก่อนจึงเห็นว่าใครจับผู้ต้องหาได้ จะเป็นฮีโร่ ในเบื้องหลังของฮีโร่ก็ไม่สนใจ”

 

“จะเห็นว่าทั้ง 2 รูปแบบ นี้เราจะมีจุดยึดเหมือนกันคือ “กฎหมาย” ทีนี้เรื่องกฎหมายผมถือว่าเป็นรากเหง้าที่สำคัญของความยุติธรรม กฏหมายต้องมุ่งประโยชน์สูงสุดของประชาชนมากที่สุด คือประชาธิปไตย แล้วในมุมของประชาธิปไตยเขาบอกว่า ‘อาชญากรรมจะต้องเป็นภยันตรายต่อสังคม’ ไม่ใช่ ‘ภยันตรายต่อชื่อเสียงของคนใดคนหนึ่ง หรืออารมณ์ของคนใดคนหนึ่ง’ เราจึงเห็นว่า ถ้ากฎหมายออกโดยผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มหรือผู้มีอำนาจไม่ใช่กฏหมายที่ดี อย่างรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 4 เขียนไว้ดีมาก ‘ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับการคุ้มครอง’ แต่ข้อความในวรรค 2 ‘ปวงชนชาวไทยย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอ’ ทราบหรือไม่ว่า มาตรา 279 สุดท้ายของรัฐธรรมนูญ บรรดาประกาศคำสั่งหรือการกระทำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคำสั่งของหัวหน้า คสช. ที่ผมบอก 500 นั้นยังมีอยู่ และยังให้เป็นอยู่ ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เริ่มต้นกฎหมายสูงสุดของประเทศก็ขัดหลักการประชาธิปไตยแล้ว เพราะคำสั่ง คสช. หรือหัวหน้า คสช ล้วนละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และสิทธิมนุษยชน ที่ค้างอยู่ มันยังใช้ได้”

 

“ขอเสนอมุมมองในมิติของการบังคับใช้กฎหมาย ที่ผมชอบนิยามหนึ่งในทางอาชญาวิทยา คำว่า ‘อาชญากร’ ไม่หมายความรวมถึงผู้ที่กระทำที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิดเท่านั้น แต่ให้รวมถึง ผู้ร่างกฎหมาย ผู้บงการให้ร่างกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดด้วย”

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง กล่าวย้ำว่า “วันนี้เราน่าจะถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องปฏิรูป ยกเลิกกฏหมาย หรือทำกฎหมายใหม่ เริ่มต้นที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้เลย ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดวันนี้ ทำอย่างไรจะให้ประชาชนหวงแหน และเป็นเจ้าของกฏหมายให้ได้ ทำอย่างไร จะให้กฎหมายเป็นประชาธิปไตยให้ได้ เป็นกฏหมายให้เกิดความยุติธรรมตามความเป็นจริง ไม่ใช่ความยุติธรรมตามกฎหมาย เอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ ไม่ปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวล”

 

Related posts