ม.อ. เตรียมแผนพัฒนาศักยภาพบัณฑิตอาสาฯ ศอ.บต. เพื่อเป็นผู้สร้างความตระหนักรู้เรื่องสุขภาพ หลังวิกฤติ COVID-19

ม.อ. เตรียมแผนพัฒนาศักยภาพบัณฑิตอาสาฯ ศอ.บต. เพื่อเป็นผู้สร้างความตระหนักรู้เรื่องสุขภาพ หลังวิกฤติ COVID-19

 

วันนี้ (23 มิถุนายน 2563) เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมรับรอง 1 อาคารศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เข้าพบเลขาธิการ ศอ.บต. พลเรือตรีสมเกียรติ ผลประยูร เพื่อหารือการดำเนินงานพัฒนาศักยภาพบัณฑิตอาสาพัฒนามาตุภูมิ ในโครงการศูนย์วิชาพัฒนานโยบายด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ในพื้นที่ 5 จชต. เพื่อเสริมสร้างศักยภาพบัณฑิตอาสาพัฒนามาตุภูมิของ ศอ.บต. ให้มีประสิทธิภาพในการเขียนโครงการ ดำเนินโครงการและติดตามประเมินผลแบบออนไลน์ โดยผ่านงบประมาณกองทุนสุขภาพตำบล เพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องสุขภาพแก่ประชาชนในชุมชนให้มีประสิทธิภาพ ผ่านบัณฑิตในพื้นที่เพื่อคนในชุมชน

ผศ.ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนฯ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เผยว่า กองทุนสุขภาพตำบล ตามมาตร 47 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เป็นส่วนช่วยเสริมในการจัดบริการสุขภาพในรูปแบบต่างๆ นอกจากการบริการสุขภาพหลักที่มีในสถานพยาบาล โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนสามารถดูแลและพึ่งพาตนเองในด้านสุขภาพได้ โดยพบว่า ที่ผ่านมา ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังเข้าไม่ถึงงบประมาณจากกองทุนนี้ สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงมีความประสงค์จัดโครงการพัฒนาบัณฑิต ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในพื้นที่ ให้ความรู้ในการเขียนโครงการ สร้างความตระหนักในการดูแลสุขภาพคนในชุมชน ซึ่งมองว่า ภายหลังวิกฤติไวรัสโคโรน่า 2019 เป็นโอกาสดีที่จะส่งเสริมคนในพื้นที่ จชต. ให้ตระหนักเรื่องสุขภาพ และให้ความสำคัญเรื่องปัจจัย 4 เพื่อการมีสุขภาพกายใจที่ดี ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีตามขึ้นด้วย

ด้าน เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า มีความยินดีที่จะร่วมทำงานและขับเคลื่อนไปด้วยกัน โดย ศอ.บต. มีเป้าหมายสูงสุดด้านสาธารณสุขคือ ประชาชนมีความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการทางสังคม มีความเท่าเทียมในการเข้าถึงปัจจัยพื้นฐาน คนขาดโอกาสและคนเปราะบางมีหลักประกันสุขภาพ โดยแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ระดับภาค 5 จังหวัด และอนุภูมิภาค ซึ่งในระดับภาค 5 จังหวัด มีแผนงานยกระดับบริการทางการแพทย์ ผ่านศูนย์การแพทย์ชายแดนใต้ เพื่อพัฒนาให้มีศูนย์กลางการดูแลกลุ่มคนเปราะบาง โดยเฉพาะคนพิการ เด็กกำพร้า ฯลฯ ให้มีคุณภาพ ส่วนในระดับอนุภูมิภาค มีแผนงานพัฒนาการบริการขั้นพื้นฐาน เช่น ระบบสาธารณสุขปฐมภูมิ เป็นต้น พร้อมวางระบบการดูแลกลุ่มคนเปราะบาง เน้นการใช้พลังทางสังคมในชุมชน โดยแผนงานที่กล่าวมาข้างต้น อยู่ในระหว่างการเสนอรัฐบาลให้อนุมัติ เพื่อดำเนินการต่อไปด้วย อย่างไรก็ดี ศอ.บต. พร้อมสนับสนุนการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกมิติ เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนด้านเศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากรมนุษย์ ในพื้นที่ 5 จชต.

Related posts