กลุ่มสตรีชาวไทยมุสลิมอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา รวมกลุ่มออกแบบและตัดเย็บเครื่องแต่งกายมุสลิม ด้วยลวดลายที่สวยงาม เป็นเอกลักษณ์ และตอบโจทย์ลูกค้าทุกเพศ ทุกวัย สร้างรายได้เสริมให้ครอบครัวในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19
กลุ่มสตรีชาวไทยมุสลิมในพื้นที่อำเภอเทพา อำเภอจะนะ และอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ใช้เวลาว่างหลังเสร็จจากการกรีดยางพารา รวมกลุ่มกันออกแบบและตัดเย็บเครื่องแต่งกายมุสลิม สร้างรายได้เสริมให้กับตนเองและครอบครัวในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยทางวิทยาลัยชุมชนสงขลาได้เข้ามาสนับสนุนองค์ความรู้ เพื่อพัฒนาและเพิ่มทักษะการตัดเย็บเครื่องแต่งกายมุสลิมที่มีอยู่เดิมให้ตรงตามความต้องการของตลาด และตอบโจทย์ลูกค้าทุกเพศทุกวัย
นางสาวกาญจนา หมัดอาดัม อายุ 41 ปี หนึ่งในสมาชิกกลุ่มออกแบบและตัดเย็บเครื่องแต่งกายมุสลิม กล่าวว่า จากเดิมมีพื้นฐานในการตัดเย็บอยู่แล้ว พอได้มาเข้าร่วมโครงการของทางวิทยาลัยชุมชนสงขลา ซึ่งเป็นการมาต่อยอดความรู้และเทคนิคใหม่ ๆ ในด้านการออกแบบและการตัดเย็บให้สอดคล้องกับไลฟ์ไตล์ของลูกค้าที่มีความต้องการที่หลากหลาย ซึ่งมีทั้งลูกค้าที่เป็นข้าราชการและประชาชนทั่วไปมาใช้บริการ นอกจากนี้ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังได้นำความรู้ที่มีไปเป็นวิทยากรให้แก่หน่วยงานภาครัฐและชาวบ้านที่สนใจในการตัดเย็บ รวมถึงการเปิดรับออเดอร์ผลิตหน้ากากอนามัยจากผ้า เพื่อพลิกจากวิกฤติมาสร้างโอกาสทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นกอบเป็นกำ
นายนิยม ชูชื่น ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนสงขลา กล่าวว่า คนกลุ่มเหล่านี้มีอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้าอยู่ในพื้นที่อำเภอจะนะ อำเภอเทพา และอำเภอสะบ้าย้อย แต่หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้การใช้ชีวิตและการประกอบอาชีพต้องมีการปรับเปลี่ยนวิถีใหม่ และสิ่งที่สำคัญนั่นคือยกระดับฝีมือเพื่อเจาะตลาดลูกค้าในหลากหลายระดับ เช่นกลุ่มผู้นำแฟชั่น กลุ่มคนทำงาน นักธุรกิจ และวัยรุ่น เป็นต้น ซึ่งเชื่อว่าทุกวันนี้ระบบ AI ยังไม่มีความประณีตและไม่มีความเอาใจใส่ต่อลูกค้าที่เพียงพอ โดยรสนิยมของลูกค้าบางส่วนให้ความสนใจเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่มีแบรนด์วางขายอยู่ตามห้างสรรพสินค้า ขณะที่ยังมีกลุ่มคนอีกจำนวนหนึ่งที่มีความต้องการเสื้อผ้าที่เข้ากับตนเองและได้รับการดูแลเอาใจใส่จากผู้ให้บริการ ซึ่งช่องทางนี้จะเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้ายังคงมีอาชีพ มีงานทำและมีรายได้
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มทักษะความรู้ ความสามารถ และพัฒนาทักษะฝีมือในการประกอบอาชีพ นับว่ายังคงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อนำมาต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ ทำให้สินค้าเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ชาวบ้านเองก็มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยไม่เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างแน่นอน
ศิริลักษณ์ แคล้วคลาด/ข่าว
ประชา-วิทยา/ภาพ
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา