“ลังกาสุกะ” คือ ชื่อที่เรียกขานในอดีตของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประกอบด้วย จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เป็นพื้นที่ที่มีความเก่าแก่เจริญรุ่งเรืองที่สุดบนคาบสมุทรมาลายู เป็นศูนย์การกลางการค้าและวัฒนธรรมแห่งภูมิภาคตะวันออก
เมื่อวันเวลาผ่านไป อาณาจักร “ลังกาสุกะ” หรือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เปลี่ยนแปลงไปด้วยเนื่องจากความไม่สงบในพื้นที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่โดยเฉพาะปัญหาด้านสุขภาพอนามัย คนส่วนใหญ่มีรายได้น้อย ทำให้การเข้าถึงสาธารณสุขเป็นไปได้ยาก ด้วยเหตุนี้โครงการลังกาสุกะโมเดลจึงได้เริ่มขึ้นในปี 2551 และนำหลักแพทย์แผนไทยมาใช้ในพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพและให้ชุมชนสามารถเข้าถึงยาสมุนไพรได้ในราคาไม่แพง ด้วยการนำของศาสตราจารย์ ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรระดับโลก ในนาม มูลนิธิ กฤษณา ไกรสินธุ์ โดยร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร
และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผลิตยาสมุนไพรต้านโรคคุณภาพสูง เพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย โดยส่งเสริมการแปรรูปสมุนไพรแบบเคลื่อนที่ต่อเนื่อง และล่าสุด ศ.ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ ประธานมูลนิธิกฤษณา ไกรสินธุ์ได้มอบรถจำนวน 4 คัน คือ รถแปรรูปขมิ้นชัน รถตรวจสอบคุณภาพเคลื่อนที่ รถแปรรูปฟ้าทะลายโจร และรถลากจูง ให้นายแพทย์ อหมัดมูซูลัม เปาะจิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะแนะ จ.นราธิวาส เพื่อใช้ผลิตและตรวจคุณภาพสมุนไพรถึงพื้นที่เกษตร ช่วยลดค่าใช้จ่าย เสริมรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของพี่น้อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. เป็นประธานในพิธี
ศ.ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ ประธานมูลนิธิฯ กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างมูลนิธิฯ และพันธมิตร ทุกเครือข่ายทั้ง กฟผ. รศ.ดร.อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี นางอนุรัตน์ เทียมทัน ประธานกรรมการ บริษัท ทิปโก้ไบโอเท็ค จำกัด และนางธารทิพย์ ศิรินุพงศ์ ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาชุมชน บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย เครือข่ายผู้สนับสนุน ได้แก่ บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) และกลุ่มชุมชนปลูกสมุนไพร อำเภอบันนังสาเรง ดอนยาง ยะหริ่ง ยะหา และเทพา เกิดขึ้นเพื่อร่วมสร้างความเข้มแข็งทางด้านสาธารณสุขและด้านเศรษฐกิจให้ประชาชนในพื้นที่ ให้ประชาชนเข้าถึงยาสมุนไพรที่มีคุณภาพ ส่งเสริมอาชีพของชุมชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้อยู่ดี มีสุข พึ่งพาตนเองได้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของลังกาสุกะโมเดลในการแปรรูปสมุนไพรในพื้นที่ผลิตเป็นยาสมุนไพรคุณภาพสูง ผนวกกับพืชสมุนไพรที่ปลูกในพื้นที่เหล่านี้พบสารสำคัญทางยาที่มีฤทธิ์สูงกว่าพืชสมุนไพรชนิดเดียวกันที่ปลูกในพื้นที่อื่น เนื่องจากดินและน้ำที่นี่ส่วนใหญ่ปลอดจากสารเคมี ยาฆ่าแมลงและโลหะหนัก
โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการแปรรูปสมุนไพรเพื่อทำยารักษาโรค คือ การรักษาคุณภาพและความสดใหม่ของสมุนไพร ซึ่งรถแปรรูปสมุนไพรและรถตรวจสอบคุณภาพเคลื่อนที่ ทั้ง 4 คัน ช่วยผลิตและส่งต่อยาสมุนไพรที่มีคุณภาพสูงสู่มือของชาวบ้านและประชาชนทั่วประเทศให้บริโภคได้อย่างมั่นใจ การันตีคุณภาพยาสมุนไพรโดยได้รับมาตรฐาน GMP: Good Manufacturing Practice จากกระทรวงสาธารณสุข และมาตรฐานฮาลาล ในขณะเดียวกัน มูลนิธิฯ ได้ร่วมกับ กฟผ. ส่งเสริมการปลูกสมุนไพรเกษตรอินทรีย์ ในพื้นที่ชุมชนทั้งภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคอีสาน และพื้นที่อื่นๆ ที่จะขยายต่อไปในอนาคต เพื่อเป็นวัตถุดิบต้นน้ำในการผลิตยาสมุนไพรที่มีคุณภาพ และให้ชุมชนสามารถสร้างรายได้ จากการปลูกและจำหน่ายสมุนไพรอินทรีย์ และให้คนไทยเข้าถึงยาสมุนไพรคุณภาพดีได้ง่าย เพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย
ด้าน ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. ได้กล่าวถึงลังกาสุกะโมเดลว่า เป็นโครงการต้นแบบที่ดีในการแปรรูปสมุนไพรท้องถิ่น ให้ชาวบ้านเข้าถึงบริการสาธารณสุขและยาที่มีคุณภาพ รวมถึงช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพแก่ชาวบ้านอย่างเป็นรูปธรรม โดยใช้กระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วม ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือของเครือข่าย สร้างความเข้มแข็งในชุมชนอย่างแท้จริง สอดรับกับแนวทางของ กฟผ. ในการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม กฟผ. และพันธมิตรจึงได้ร่วมทำงานกับมูลนิธิฯ ในทุกกระบวนการ ตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ ทั้งงบประมาณและการพัฒนารถยนต์สำหรับดัดแปลงเป็นรถควบคุมคุณภาพสมุนไพร เพื่อใช้เป็นห้องวิจัยสมุนไพรเคลื่อนที่คันแรกของโลก และรถลากจูงสำหรับใช้ลากจูงรถแปรรูปฟ้าทะลายโจร ตลอดจนการส่งเสริมและร่วมปลูกสมุนไพรอินทรีย์ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พื้นที่ใกล้เคียง ชุมชนใต้แนวสายส่ง และพื้นที่ชุมชนที่ กฟผ. ให้การสนับสนุน โดยเฉพาะสมุนไพรฟ้าทะลายโจร ที่มีสรรพคุณในการบรรเทาอาการของผู้ป่วยโควิด-19
“ลังกาสุกะโมเดล” จึงเป็นแนวทางหนึ่งเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างมีส่วนร่วมของชุมชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยั่งยืน มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนให้ดีขึ้น และในอนาคตจะพัฒนายาสมุนไพรให้เป็นสินค้า Premium Product นำไปสู่ธุรกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise (SE) เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาปากท้อง ปัญหาสังคม และปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชนอย่างยั่งยืน