ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. ต้อนรับ ผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งประชาชาติฯ เผย ศอ.บต. ดำเนินงานรองรับสิทธิมนุษยชน เตรียมยกระดับผู้ประกอบการ-เปิดโอกาสประชาชนมีส่วนร่วม-ส่งเสริมบทบาทพลังสตรี แก้ความรุนแรงและส่งเสริมอาชีพ

ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. ต้อนรับ ผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งประชาชาติฯ เผย ศอ.บต. ดำเนินงานรองรับสิทธิมนุษยชน เตรียมยกระดับผู้ประกอบการ-เปิดโอกาสประชาชนมีส่วนร่วม-ส่งเสริมบทบาทพลังสตรี แก้ความรุนแรงและส่งเสริมอาชีพ


เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2565 ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นำโดยนางสุนิสา รามแก้ว ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. กรมประชาสัมพันธ์ (กปส.) เป็นประธานต้อนรับ นายดิป มาการ์ เจ้าหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชนและหัวหน้าฝ่ายประเทศไทย ผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมกับ นางสาวภัทรานิษฐ์ เยาดำ เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชน เข้าพบผู้แทนผู้บริหาร ศอ.บต. เพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ และความคืบหน้าในการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาโดยภาครัฐ ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อมูลโครงการที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน


นายดิป มาการ์ เจ้าหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชนและหัวหน้าฝ่ายประเทศไทย ได้กล่าวถามถึงการดำเนินงานของศอ.บต.ด้านการส่งเสริมงานด้านสิทธิมนุษยชน ตามแผนปฏิบัติการระดับชาติ ว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ และยังซักถามถึงการรับรองสิทธิมนุษยชนกับการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายของประชาชน และนอกจากนี้ยังมีการหารือเกี่ยวกับการส่งเสริมบทบาทสตรีของ ศอ.บต. ในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ด้วย


นางสุนิสา รามแก้ว ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า สำหรับการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ล่าสุด นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. ได้เดินทางไปพบปะผู้ประกอบการต้มยำกุ้ง ซึ่งทำธุรกิจในประเทศมาเลเซีย เพื่อพูดคุยยกระดับผู้ประกอบการให้ดำเนินการอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ภายหลังหารือได้นำข้อมูลมาวิเคราะห์ จัดทำเป็นโครงการต่างๆ พร้อมจับมือเชฟจุมพล (นายจุมพล แจ้งไพร) เชฟกระทะเหล็กอาหารไทย เพื่อยกระดับผู้ประกอบอาชีพร้านอาหารต้มยำกุ้งมาฝึกอบรม ร่วมกับแรงงานในพื้นที่ ที่มีความประสงค์เดินทางไปทำงานในประเทศโลกมุสลิมให้มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น


ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวอีกว่า ในส่วนการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมนั้น ศอ.บต.ได้จัดทำโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เศรษฐกิจชุมชนระดับหมู่บ้านและชุมชน เป็นระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2566-2570 โดยดึงภาคประชาสังคมกว่า 300 องค์กร ร่วมเวทีประชาคม ระดมความเห็นจัดทำแผนโครงการเพื่อพัฒนาพื้นที่ จากระดับรากหญ้าสู่การดำเนินงานระดับนโยบาย เพื่อเสนอ กพต. ในวันที่ 19 ธันวาคมนี้


ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. ยังได้กล่าวถึง ศอ.บต. กับการส่งเสริมบทบาทสตรีในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ว่า ศอ.บต.ได้ร่วมกับสมาคมมุสลิมมะห์ จ.นราธิวาส เปิดศูนย์บริการให้คำปรึกษาเสริมพลังสตรี จังหวัดนราธิวาส ช่วยบรรเทาและช่วยเหลือสตรีในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งมีตัวเลขการขอความช่วยเหลือ และดำเนินการคลี่คลายอย่างชัดเจน
ทั้งนี้ นายดิป มาการ์ เจ้าหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชนและหัวหน้าฝ่ายประเทศไทย ได้กล่าวชื่นชมรัฐบาลไทยในการบังคับใช้กฎหมายพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีของไทยในการป้องกันและปราบปรามการกระทำโหดร้าย ไม่เป็นธรรม ช่วยในการแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศ และในจังหวัดชายแดนภาคใต้

Related posts