แถลงการณ์เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้ ขอให้รัฐเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอูรักลาโว้ย เกาะหลีเป๊ะ ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล

แถลงการณ์เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้ ขอให้รัฐเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอูรักลาโว้ย เกาะหลีเป๊ะ ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล


จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 เวลา 15.00 น.ปัญหาเรื่องที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์
ชาวเลอูรักลาโว้ย เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นข้อถกเถียงในสังคมอีกครั้งหลังจากมี
การเชื่อมเหล็กปิดกั้นเส้นทางสัญจร อันเป็นทางสาธารณะของชุมชนที่ใช้ร่วมกันมามากกว่า 100 ปีจนทำให้
นักเรียนไม่สามารถเดินเข้าโรงเรียนได้ อีกทั้งยังทำให้ชาวเลและประชาชนทั่วไปไม่สามารถใช้เส้นทางสัญจรไป
ที่ต่างๆ ได้ทั้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ สุสานชาวเล เส้นทางแห่พิธีกรรมในประเพณีลอยเรือ เส้นทางออก
สู่ทะเลเพื่อประกอบอาชีพและทางเดินของนักท่องเที่ยว โดยปัญหาดังกล่าวได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการ
ดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คนและนักท่องเที่ยวบนเกาะหลีเป๊ะ และทำให้เสื่อมเสียภาพลักษณ์การท่องเที่ยว
ของประเทศไทย
ปัญหาเรื่องที่ดินของชาวเลอูรักลาโว้ยดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับความยุติธรรรม
ในการมีสิทธิในที่ดินของชาวเลอูรักลาโว้ย เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ว่าเพราะเหตุใดพวกเขาเหล่านี้ยังคงถูก
ละเมิดสิทธิและต้องออกมาเรียกร้องสิทธิในที่ดิน ทั้งที่กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลในภาคใต้โดยส่วนใหญ่เป็นผู้อยู่อาศัย
มาก่อนการเกิดขึ้นของกฎหมายในประเทศไทย ตลอดห้วงระยะเวลาที่ผ่านมามากกว่า 30 ปี กลุ่มชาติพันธุ์
ชาวเลในภาคใต้หลายจังหวัดทั้ง ภูเก็ต กระบี่ ตรัง พังงาและสตูล ได้มีความพยายามเรียกร้องและติดตาม
กระตุ้นให้รัฐดำเนินการแก้ไขปัญญาสิทธิในที่ดินมาโดยตลอด แต่ปัญหาดังกล่าวกลับยังไม่ถูกคลี่คลาย ในขณะ
ที่ชาวเลยังคงต้องทนอยู่กับสภาวะไร้ซึ่งสิทธิในที่ดิน ที่ตนเป็นผู้บุกเบิกและอาศัยอยู่มาหลายชั่วอายุคน โดยที่
ไม่รู้ว่าจะถูกฟ้องดำเนินคดีเมื่อใด ดังเช่นกรณีของชาวเลอูรักลาโว้ย เกาะหลีเป๊ะ
ในอดีตชาวเลอูรักลาโว้ย เกาะหลีเป๊ะ เคยเรียกร้องให้มีการตรวจสอบและแก้ไขการออกเอกสารสิทธิ์
โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายมาตั้งแต่ปี 2533 ตามหนังสือ มท 0100/6411 ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2533 พบว่าเมื่อ
มีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ราษฎรบนเกาะหลีเป๊ะมีการแจ้งการครอบครองที่ดิน
(ส.ค. 1) และออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน (น.ส. 3) จำนวน 17 แปลง แต่เนื่องจากกรมที่ดิน
ตรวจสอบพบความผิดปกติในกระบวนการออก น.ส. 3 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำนวน 12 แปลง และควรมี
การเพิกถอน อีกทั้งการทำแผนที่แนวเขตที่ดินของกรรมการชุดต่างๆ พบว่าที่ดินบางแปลงซ้อนทับกัน
และที่ดินเกือบทุกแปลงออกทับ เส้นทางสาธารณะ ทางน้ำสาธารณะทั่วทั้งเกาะหลีเป๊ะ
ทั้งนี้จากรายงานการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
เมื่อปี 2547 เรื่องสิทธิในที่อยู่อาศัยและที่ทำกินกรณีเกาะหลีเป๊ะ ได้มีการเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาต่อ
กระทรวงมหาดไทย ให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) บนเกาะหลีเป๊ะที่ออกโดยมิชอบ

โดยให้ดำเนินการภายใน 6 เดือน นับแต่ได้รับรายงานฉบับดังกล่าว แต่จนถึงปัจจุบันปัญหาเรื่องที่ดินบนเกาะ
หลีเป๊ะยังคงไม่ได้รับการแก้ไข ซ้ำร้ายชาวเลหลายคนยังถูกฟ้องร้องดำเนินคดีขับไล่ออกจากที่ดินและพื้นที่
สาธารณะบนเกาะหลีเป๊ะ ยังถูกปิดกั้นไม่ให้ใช้ประโยชน์ รวมถึงมีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์
ทับพื้นที่ดังกล่าว จนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนทั่วทั้งเกาะหลีเป๊ะ จากปัญหาดังกล่าวสะท้อนให้
เห็นถึงความล่าช้าในกระบวนการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินของรัฐต่อกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลภาคใต้ที่ทำให้ชาวเลต้อง
ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิของตนจากรุ่นสู่รุ่น
ทางเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้ ซึ่งเกิดจากการร่วมกันของนักวิชาการใน
สถาบันอุดมศึกษา ภาคประชาสังคมและองค์กรชุมชนในภาคใต้จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยนงานที่
เกี่ยวข้อง ดำเนินการดังนี้
1) ให้รัฐบาลกำหนดนโยบายที่ชัดเจน เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสิทธิที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล
ในภาคใต้ตามแนวทางการถือครองสิทธิในที่ดินในรูปแบบของโฉนดชุมชน ให้ชุมชนชาวเลเป็นเจ้าของร่วมกัน
เพื่อลดปัญหาการถูกรุกรานจากนายทุนในการกว้านซื้อที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้
ความสำคัญและฟื้นฟูวิถีชีวิตของชาวเล ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 เรื่อง “แนวนโยบาย
การฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล”
2) ให้นายกรัฐมนตรีมีหนังสือสั่งการถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสิทธิใน
ที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะและพื้นที่สาธารณะภายในเกาะ ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนโดยกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาทั้ง
ในระยะสั้นและระยะยาว
มาตรการระยะสั้น กรณีพื้นที่สาธารณะ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาแลนะคุ้มครองป้องกันที่ดินสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน
เร่งดำเนินการสอบสวน ตรวจสอบการบุกรุกให้เสร็จสิ้นภายใน 90 วัน หากมีการบุกรุกที่ทางสาธารณะ
ให้ดำเนินการเร่งแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพิกถอนเอกสารสิทธิ์และหากไม่ปฏิบัติตามให้ตั้งกรรมการสอบ
วินัยร้ายแรงกับเจ้าหน้าที่ ที่ไม่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ตลอดจนหาแนวทางในการยุติความ
ขัดแย้งและเปิดทางสาธารณะให้ชาวเล ประชาชนทั่วไปและนักท่องเที่ยว ได้สัญจรภายในเกาะหลีเป๊ะจนกว่า
จะดำเนินการแล้วเสร็จ
กรณีปัญหาสิทธิในที่ดินที่อยู่อาศัยของชาวเล ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงมหาดไทย
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงยุติธรรม องค์กรอิสระตาม
รัฐธรรมนูญ ดำเนินการตั้งคณะทำงานชุดเฉพาะกิจ เพื่อตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะ
โดยมีองค์ประกอบที่มาจากกรรมการที่เคยดำเนินการในอดีต เพื่อความต่อเนื่องของการดำเนินการและแต่งตั้ง
คณะกรรมการที่จำเป็นแก่การพิสูจน์พยานหลักฐานทั้งในมิติทางกฎหมาย สังคมและวัฒนธรรม และด้านนิติ

วิทยาศาสตร์ เพื่อใช้ในการพิสูจน์สิทธิของชาวเล ตลอดจนให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการแก้ไข เพิกถอน
เอกสารสิทธิ์ที่มิชอบด้วยกฎหมาย โดยกำหนดระยะเวลาตรวจสอบข้อเท็จจริงให้เสร็จสิ้นภายใน 180 วัน
มาตรการระยะยาว ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการส่งเสริมและฟื้นฟูวิถีชีวิตของชาวเล พร้อมกับ
เปิดโอกาสให้กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรในพื้นที่ เพื่อให้ชาวเลสามารถ
ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมไทยได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตลอดจนกำหนดนโยบายการท่องเที่ยวให้สอดคล้อง
กับวิถีชีวิตของชาวเล เพื่อให้ชุมชนและนักท่องเที่ยวสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย
3) ให้กระทรวงยุติธรรมปฏิรูประบบกระบวนการรับฟังพยานหลักฐานและการพิจารณาคดีในศาล
เปิดกว้างและมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเกี่ยวกับคดีที่มีผลกระทบต่อกลุ่มเปาะบาง เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มที่ได้รับ
ผลกระทบจากการดำเนินนโยบายของรัฐ เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนสามารถต่อสู้คดีอย่างเต็มที่และกำหนด
แนวทางให้การพิจารณาคดีให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบเป็นหลัก เช่น
การกำหนดให้ต้องเดินเผชิญสืบในพื้นที่ที่พิพาท เพื่อลดค่าใช้จ่ายหลักและค่าใช้จ่ายแฝงในการต่อสู้คดีของ
ประชาชนที่ต้องแบกรับในกระบวนการยุติธรรม อันเป็นการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนได้สามารถ
เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยง่าย
4) ในระหว่างการดำเนินการ ให้นายกรัฐมนตรีสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงยุติธรรม
กรมคุ้มครองสิทธิฯ กองทุนยุติธรรม หน่วยสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เข้าให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน ปกป้อง
คุ้มครองสิทธิ์และช่วยเหลือในกระบวนการยุติธรรมแก่ชาวเลหลีเป๊ะอย่างเร่งด่วน
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้
19 มกราคม 2566

Related posts