ของขวัญประชาชนชายแดนใต้ กรมสุขภาพจิต กรมการแพทย์ และ ศอ.บต. ผนึกกำลังดันการจัดตั้ง “โรงพยาบาลจิตเวชในพื้นที่ จชต.” มุ่งหวังแก้ปัญหารองรับสถานการณ์การรักษาและฟื้นฟูผู้มีปัญหาสภาวะทางจิตในพื้นที่ จชต.

ของขวัญประชาชนชายแดนใต้ กรมสุขภาพจิต กรมการแพทย์ และ ศอ.บต. ผนึกกำลังดันการจัดตั้ง “โรงพยาบาลจิตเวชในพื้นที่ จชต.” มุ่งหวังแก้ปัญหารองรับสถานการณ์การรักษาและฟื้นฟูผู้มีปัญหาสภาวะทางจิตในพื้นที่ จชต.

วันนี้ (พฤหัสบดีที่ 23 มี.ค. 66) นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เข้าร่วมประชุมร่วมกับแพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต พร้อมด้วยผู้บริหาร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิตทุกท่าน นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เจ้าหน้าที่ของ ศอ.บต. กระทรวงสาธารณสุข และคณะทำงานที่เกี่ยวข้องในเบื้องต้น ได้แก่ นายแพทย์กิ๊ฟลัน ดอเลาะ จิตแพทย์ชำนาญการ โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ และนายฟุรกอน อาแวกาจิ นักจิตวิทยาโรงพยาบาลยี่งอเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษาณ ณ ห้องประชุม 2 อาคาร 1 กรมสุขภาพจิตถนนติวานนท์ อำเภอเมืองจังหวัดนนทบุรี เพื่อหารือและพิจารณาข้อเสนอการจัดตั้ง “โรงพยาบาลจิตเวชในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้” ตามที่มีการเสนอจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อรองรับสถานการณ์การรักษาและฟื้นฟูผู้มีปัญหาสภาวะทางจิตในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

สำหรับข้อมูลผู้ป่วยจิตเวชในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีสถานการณ์ผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก โดยปรากฏโรคทางจิตเวชที่สำคัญที่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลสุขภาพจิต ได้แก่ โรคซึมเศร้า, โรควิตกกังวล, โรค PTSD, โรคจิตเภท และโรคทางจิตที่เกิดเนื่องจากการใช้ยาเสพติด เป็นต้น และได้ส่งผลต่อตัวผู้ป่วยที่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย การทำร้ายร่างกายให้คนใกล้ชิดให้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต รวมทั้ง ปัญหาที่เกิดต่อครอบครัวของผู้ป่วยได้รับผลกระทบในเรื่องค่าใช้จ่ายที่ต้องดำเนินการระหว่างการส่งต่อและรักษาตัว การใช้เวลานานในการดำเนินการกว่าจะถึงปลายทาง ซึ่งปัจจุบันผู้ป่วยเกือบทั้งหมดจะถูกส่งตัวไปรักษาอาการทางจิตเวช ณ โรงพยาบาลจิตเวชสงขลา นอกจากนี้ ยังได้ให้ความสำคัญต่อการวางแผนป้องกันการเกิดสภาวะทางจิตจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และสถานการณ์แวดล้อมในทุกมิติ โดยจากข้อมูลที่พบปัจจัยที่มีผลลต่อปัญหาสุขภาพจิตของผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบใน


จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ไดแก่ เพศ เขตพื้นที่ และการเป็นญาติของผู้บาดเจ็บอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 ได้แก่ การเสียชีวิตของญาติ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดหน่วยบริการที่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถเข้าถึงบริการได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว และเกิดประโยชน์สูงสุดให้กับประชาชนในพื้นที่ต่อไป เป็นการช่วยเหลือประชาชนลดค่าใช้จ่ายในช่วงการส่งต่อและรักษาตัวและให้เป็นหน่วยบริการที่สำคัญในการร่วมการแก้ปัญหาด้านสุขภาพให้กับคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดจากหลากหลายปัญหาที่มีความซับซ้อนกันจนไปสู่การเป็นโรคทางจิตเวช

เบื้องต้น ที่ประชุมฯ เห็นชอบในหลักการในการจัดตั้งโรงพยาบาลจิตเวชในพื้นที่ โดยกำหนดแนวทางการดำเนินการไว้ 3 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้นให้มีการเพิ่มเตียงในพื้นที่โรงพยาบาลประจำอำเภอ ประจำจังหวัด ระยะกลางจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อแยกเป็นหน่วยเฉพาะนำร่องโรงพยาบาลจิตเวชในระยะเบื้องต้น และระยะยาวจะมีการสร้างโรงพยาบาลจิตเวชในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ จะต้องจัดทำแผนรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ จัดทำข้อมูลครอบคลุมทั้งงบประมาณ บุคลากร และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้มีความครบถ้วน สมบูรณ์และเกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนก่อนจะเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) พิจารณาตามข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ในเรื่องดังกล่าวต่อไป

Related posts