คณะอนุกรรมการกลั่นกรองการเยียวยาฯ เรือประมงชายแดนใต้ เห็นชอบ ร่างหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินเยียวยาฯ ด้าน ศอ.บต. เตรียมพร้อมดำเนินการ และจัดตั้งศูนย์ประสานงาน ณ จ.ปัตตานี เพื่ออำนวยความสะดวก

คณะอนุกรรมการกลั่นกรองการเยียวยาฯ เรือประมงชายแดนใต้ เห็นชอบ ร่างหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินเยียวยาฯ ด้าน ศอ.บต. เตรียมพร้อมดำเนินการ และจัดตั้งศูนย์ประสานงาน ณ จ.ปัตตานี เพื่ออำนวยความสะดวก

วันนี้ (31 มีนาคม 2566) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดการประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการเยียวยาตามมาตรการลดจำนวนเรือประมง เพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืนจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีพลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. และประธานคณะอนุกรรมการฯ เป็นประธานการประชุม โดยมีรองอธิบดีกรมเจ้าท่า รองผู้ว่าจังหวัดปัตตานี ผู้แทนศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ผู้แทนสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้แทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการเยียวยาฯ เข้าร่วมประชุมพร้อมกับผู้แทนสมาคมประมงจังหวัดปัตตานี เข้าร่วมประชุมพิจารณาหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินเยียวยาเรือประมงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านระบบ Zoom

โดยที่ประชุมได้เห็นชอบร่างหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินเยียวยาเรือประมง ภายใต้โครงการนำเรือประมงออกนอกระบบ เพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กรณีเร่งด่วน (เรือชุดที่ 1) ภายหลังคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ 2566 งบกลาง เป็นรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายช่วยเหลือเยียวยาซื้อเรือประมงในพื้นที่จังหวัดปัตตานี จำนวน 96 ลำ งบประมาณรวม 163,363,400 บาท เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา

สำหรับร่างหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินเยียวยาเรือประมง มีการระบุถึงหลักเกณฑ์การจ่ายเงิน ซึ่งจะมีการจัดตั้งคณะเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเรือประมงในพื้นที่จังหวัดปัตตานี พร้อมหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเยียวยา ซึ่งจะมีการแบ่งจ่ายเป็น 2 งวด โดยงวดที่ 1 จำนวนร้อยละ 80 และงวดที่ 2 จำนวนร้อยละ 20 ของจำนวนเงินเยียวยาที่พึงได้รับ เมื่อคณะทำงานด้านการจ่ายเงินเยียวยาเรือประมงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เห็นชอบ สัญญา ซึ่งทำขึ้นระหว่าง ศอ.บต. กับเจ้าของเรือประมง

สำหรับวิธีการจ่ายเงินเยียวยา ผู้ประกอบการเรือประมงจะต้องยื่นแบบคำร้องขอรับเงินเยียวยา ณ อาคารสำนักงานท่าเทียบเรือชายฝั่งจังหวัดปัตตานี ตามที่ได้รับหนังสือแจ้งจากคณะเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเรือประมงในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ในเวลาราชการ อีกทั้งเจ้าของเรือประมงต้องยื่นคำขอหนังสือรับรองเพื่อประกอบการยื่นขอแยกชิ้นส่วน หรือ ทำลายเรือประมงให้แล้วเสร็จ ทั้งนี้ สำหรับการทำลายเรือประมง ศอ.บต. จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการทำลาย โดยบูรณาการร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ในการจัดทำลาย อย่างไรก็ตาม ศอ.บต. จะมีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อดำเนินการเรื่องดังกล่าวขึ้นที่สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาปัตตานี เพื่ออำนวยการความสะดวกในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเรือประมง จำนวน 96 ลำ ดังกล่าวอีกด้วย

Related posts