ศอ.บต. ร่วมประชุม ม.อ.ปัตตานี หาแนวทางแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของอ่าวปัตตานี เตรียมยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรฐานรากชุมชนชายฝั่ง
เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมประชุมหารือและรับฟังแนวทางการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของอ่าวปัตตานีร่วมกับคณะอาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นำโดยรองศาสตราจารย์ ดร.ซุกรี หะยีสาแม อาจารย์จากภาควิชาเทคโนโลยีและการอุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ทั้งนี้ได้มีการหารือถึงการศึกษาระบบนิเวศชายฝั่งสำหรับจัดทำแผนแม่บทการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเชิงพื้นที่เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตฐานรากชุมชนชายฝั่ง โดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย เพื่อสำรวจสภาพปัจจุบันและประเมินสภาพอนาคตทางด้านลักษณะทางภูมิศาสตร์ สมุทรศาสตร์ทรัพยากรชีวภาพที่สำคัญ ประเด็นข้อกฎหมายที่สำคัญ ที่เกี่ยวข้อง และรูปแบบการใช้ประโยชน์ด้านต่าง ๆ อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาต้นแบบในการยกระดับการใช้ประโยชน์ทรัพยากรเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตฐานรากชุมชนชายฝั่งประกอบด้วยการฟื้นฟูทรัพยากรการท่องเที่ยวการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำผลิตภัณฑ์แปรรูปและระบบสนับสนุน ที่เหมาะสม รวมถึงเตรียมจัดทำแผ่นแม่บทการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเชิงพื้นที่ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตฐานรากชุมชนชายฝั่งโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
อีกทั้งในที่ประชุมได้มีข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหา อาทิ 1.ทรัพยากรสมบูรณ์มั่นคงชาวประมงอยู่ได้ รักษาป่าชายเลน หญ้าทะเล คุณภาพน้ำ เพิ่มปริมาณสัตว์น้ำ (หอยแครงจับมือ กุ้งกุลาดำ/กุ้งแช่บ๊วย Crab bank) จัดทำแหล่งอาศัยใน/นอกอ่าว เช่น กระชังหอยแมลงภู่ ปะการังเทียม ควบคุมประมงผิดกฎหมาย 2.แก้ไขการกัดเซาะ ตะกอนทับถม น้ำเค็ม คลองซอยเข้าชุมชน หาวิธีแก้ไขการกัดเซาะเบ็ดเสร็จ เช่นถ่ายทรายจากในอ่าว หรืออื่น ๆ) ขุดลอกบริเวณส่วนปลายแหลมตาชีกับดักตะกอนทับถม ขุดลอกบริเวณร่องน้ำเข้าชุมชน เป็นแนวทางเติมน้ำเต็มเข้าอ่าว และ 3. สร้างโอกาสใหม่ให้ชุมชน การพัฒนาท่องเที่ยวครบวงจร สร้างอาชีพย่อยที่หลากหลายเพิ่มโอกาสทางการศึกษา/เรียนรู้ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับตลาดในอนาคต
จากนั้นได้เยี่ยมชมโรงเพาะฟักสัตว์น้ำ ณ มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลปูทะเลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่สามารถจะผลิตพันธุ์ปูได้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรผู้เลี้ยงปูทะเลในพื้นที่โดยไม่จำเป็นต้องนำเข้าพันธุ์ปู ทะเลจากต่างประเทศอีกต่อไป