กรมพัฒน์ผนึกกำลังกรมพินิจ Up-Skill เยาวชน รับนโยบายรมว.พิพัฒน์ “ทักษะดี มีงานทำ”

กรมพัฒน์ผนึกกำลังกรมพินิจ Up-Skill เยาวชน รับนโยบายรมว.พิพัฒน์ “ทักษะดี มีงานทำ”

 

วันที่ 4 มิถุนายน 2567 กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาฝีมือแรงงานให้แก่เด็กและเยาวชน มีนางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และพันตำรวจโท ประวุธ วงศ์สีนิล อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เป็นผู้ลงนาม นางจิรวรรณ สุตสุนทร รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นางนลินนาถ ไกรนรา รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เป็นพยาน โดยมีนางจิรภา สินธุนาวา รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ร่วมเป็นเกียรติในพิธีลงนามในครั้งนี้ด้วย ณ ห้องประชุมกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ชั้น 7 อาคารกระทรวงยุติธรรม

นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า มีความยินดีอย่างยิ่งที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาฝีมือแรงงานให้แก่เด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในการส่งเสริมให้แรงงานมีทักษะดี มีงานทำ สำหรับเป้าหมายในการบูรณาการภารกิจร่วมกันครั้งนี้ มีทั้งการจัดฝึกอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่ฝึกวิชาชีพของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนเพื่อเป็นวิทยากรต้นแบบ ส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ

และจัดฝึกอบรมแก่เด็กและเยาวชนที่อยู่ในความดูแลของกรมพินิจ เพื่อให้น้อง ๆ กลุ่มนี้มีความรู้ ความสามารถ และมีทักษะฝีมือในวิชาชีพ ช่วยเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพหลังจากการปล่อยตัวแล้ว เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว และสามารถพึ่งตนเองได้ โดยในปี พ.ศ. 2567 มีหน่วยงานฝึกอบรมนำร่อง จำนวน 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี นครสวรรค์ สุราษฎร์ธานี นครปฐม จันทบุรี พังงา และสุรินทร์ หลักสูตรที่ดำเนินการ อาทิ การเชื่อมไฟฟ้า ช่างซ่อมบำรุงเครื่องยนต์เล็ก ช่างปูกระเบื้อง การตัดเย็บเสื้อผ้า การเดินสายไฟฟ้าภายในอาคาร บาริสต้ามืออาชีพ เป็นต้น จำนวนทั้งสิ้น 296 คน

ด้านพันตำรวจโท ประวุธ วงศ์สีนิล อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กล่าวเพิ่มเติมว่า เด็กและเยาวชนถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญ การพัฒนาเด็กและเยาวชนจึงถือเป็นงานหลักที่ทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคมต่างให้ความสำคัญ ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีทักษะชีวิตที่ดี ทักษะอาชีพที่เหมาะสม ได้รับโอกาสในการเข้าถึงการมีงานทำและช่วยส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนสามารถกลับคืนสู่สังคมได้อย่างภาคภูมิและดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุขโดยไม่หวนกลับมากระทำผิดซ้ำ ทักษะที่ได้รับการพัฒนาจะช่วยให้เยาวชนไปประกอบอาชีพต่อไปได้ ทั้งนี้ขอขอบคุณกรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่ให้ความร่วมมือกับกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการสนับสนุนและให้โอกาสในการพัฒนาฝีมือแรงงานให้แก่เด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่อง

Related posts