ภูไทสุโขทัยออนไลน์ / “พิพัฒน์” นำไทยเสนอวิสัยทัศน์แรงงานในเวที APEC เสนอ 5 นโยบายรับโลกยุคใหม่ ดันแรงงานไทยก้าวสู่อนาคต

12 พฤษภาคม 2568 – นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นตัวแทนประเทศไทย พร้อมด้วย นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นายศักดินาถ สนธิศักดิ์โยธิน ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน นางศิริรัตน์ ศรีชาติ อัครราชทูตที่ปรึกษา(ฝ่ายแรงงาน) ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล และคณะ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรี APEC ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (APEC HRDMM 2025) ณ เมืองเชจู สาธารณรัฐเกาหลี โดยได้นำเสนอแนวทางเชิงรุกในการเตรียมแรงงานรับมือโลกการทำงานในอนาคต ภายใต้หัวข้อ “ตลาดแรงงานที่ยืดหยุ่นและมีพลวัต” และ “การตอบสนองต่ออนาคตของงานผ่านนโยบายตลาดแรงงานเชิงรุก (ALMPs)”นายพิพัฒน์ กล่าวต่อที่ประชุมว่า “ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการสร้างระบบแรงงานที่ครอบคลุม เป็นธรรม และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเทคโนโลยี AI โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว” โดยนำ 5 นโยบายหลักที่กระทรวงแรงงานไทยนำเสนอในเวทีโลก ได้แก่


1.Reskill Upskill และ New Skill: พัฒนาทักษะดิจิทัล สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีใหม่ ให้แรงงานทุกกลุ่มทันต่อตลาดแรงงานทั่วโลก
2.สนับสนุนแรงงานอาชีพอิสระ งานแพลตฟอร์ม: ยกระดับบริการจัดหางานและขยายความคุ้มครองแรงงานรูปแบบใหม่
3.ส่งเสริมการทำงานผู้สูงวัย: สนับสนุนงานที่ยืดหยุ่นและถ่ายทอดความรู้สู่คนรุ่นใหม่
4.ขยายประกันสังคม: ให้ครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่ม ทั้งแรงงานในระบบ–แรงงานอิสระ และแรงงานแพลตฟอร์ม (กึ่งอิสระ)
5.ขับเคลื่อน BCG Economy: สร้างงานสีเขียว ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน และความยั่งยืนในทุกพื้นที่

โดยนายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า จากการประชุม มีเนื้อหาที่น่าสนใจจากประเทศสมาชิก APEC ที่ไทยสามารถนำไปศึกษา เพื่อนำสิ่งที่เป็นประโยชน์กับ แรงงานไทยไปปรับใช้ได้ เช่น
•สิงคโปร์ ใช้เทคโนโลยีวิเคราะห์ข้อมูลแรงงาน สร้างระบบ “Skill Credit” และ “Job Transition Maps” รัฐลงทุนร่วมกับนายจ้าง เพื่อ Reskill แรงงาน รับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว
•รัสเซีย พัฒนา Job Matching สำหรับคนพิการ–ผู้สูงอายุ พร้อมอุดหนุนภาคเอกชนจ้างแรงงานกลุ่มเปราะบาง
•ฟิลิปปินส์ ส่งเสริมระบบการเรียนรู้แบบยืดหยุ่นผ่าน Credit-based Learning และสนับสนุนแรงงานพิการ–สูงวัย เข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ
•เปรู เน้น การทำงานทุกช่วงวัย Lifelong Learning และส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว ควบคู่กับการดูแลแรงงานหญิง–คนพิการ
•ปาปัวนิวกินี ร่วมมือกับประเทศพัฒนาแล้วเพื่อพัฒนาแรงงานนอกระบบ การทำงานของแรงงานสตรี และสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัย โดยเน้นทักษะดิจิทัลและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ฝึกอบรม
•มาเลเซีย ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตแรงงาน เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำและพัฒนาองค์ความรู้ด้าน AI เพื่อรับมือผลกระทบแรงงาน
•เกาหลีใต้ พัฒนา “One-Stop Center” ฝึกอบรมแรงงานกลุ่มวัยกลางคน ควบคู่กับการสนับสนุนด้านสุขภาพจิต
•แคนาดา–ชิลี–ฮ่องกง–นิวซีแลนด์–สหรัฐฯ ต่างผลักดันกฎหมายเพื่อความเท่าเทียม การสร้าง Work-Life Balance และการคุ้มครองแรงงานกลุ่มเปราะบางในสังคมสูงวัย

ด้าน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การแสดงวิสัยทัศน์ของกระทรวงแรงงานประเทศไทยในเวที APEC ครั้งนี้ ไม่เพียงตอกย้ำบทบาทด้านแรงงานของภูมิภาค แต่ยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้พี่น้องแรงงานไทยว่า “แรงงานไทยมีความสามารถในการแข่งขัน และได้มาตราฐานที่ตลาดแรงงานในโลกต้องการ เพื่อสร้างอนาคตที่ยังยืน
“แรงงานคือหัวใจของการพัฒนา ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ โดยไทยพร้อมทำงานร่วมกับทุกประเทศสมาชิก APEC เพื่อสร้างโอกาสในอนาคตของแรงงานที่เป็นธรรม และ ยั่งยืน“

Related posts