จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โรคพิษสุนัข ก่อโรคในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สามารถติดต่อมาสู่คนได้ และพบได้ตลอดปี แต่ช่วงอากาศร้อนทำให้สัตว์เลี้ยงมีอาการหงุดหงิดง่าย ผู้ใกล้ชิดสัตว์จึงมีโอกาสเสี่ยงถูกกัดได้บ่อย นอกจากนี้ เมื่อสัตว์หงุดหงิดก็อาจทำให้สัตว์กัดกันเอง จึงเป็นสาเหตุให้สัตว์ที่ปกติมีโอกาสติดเชื้อ และได้รับเชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้าไปด้วย และเป็นสาเหตุว่าทำไมช่วงหน้าร้อนถึงพบผู้ป่วย หรือสัตว์ที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าสูงกว่าฤดูกาลอื่นโรคพิษสุนัขบ้า เกิดจากเชื้อไวรัสเรบีส์ พบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น สุนัข แมว โค กระบือ หนู กระรอก กระต่าย ลิง ค้างคาว ในประเทศไทยมักพบใน สุนัข แมว โค และกระบือ ผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าจะมีอาการเบื่ออาหาร เจ็บคอ ปวดเมื่อย มีไข้ อ่อนเพลีย ชา เจ็บ เสียว หรือปวดบริเวณรอยแผลที่ถูกกัด คันอย่างรุนแรงบริเวณบาดแผล ต่อมาจะมีอาการกระสับกระส่าย ไวต่อเสียงดัง เพ้อ กลัวแสง กลัวลม กลัวน้ำ กลืนลำบาก แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ชัก เกร็ง เป็นอัมพาต หมดสติ โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคอันตรายถึงแก่ชีวิต หากติดเชื้อนี้แล้วไม่ไปฉีดวัคซีนป้องกันจะต้องเสียชีวิตทุกราย
ในการนี้ พลโท กิตติพงษ์ แจ่มสุวรรณ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 3 และคณะแพทย์ทหาร มีความห่วงใยจากภัยดังกล่าว ต่อข้าราชการทหาร ในสังกัดกองทัพภาคที่ 3 รวมทั้งพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ จึงขอให้ป้องกันตนเองจากโรคพิษสุนัขบ้า โดยใช้หลัก “5 ย.” คือ
1) อย่าแหย่ – อย่าแหย่ให้สุนัขโกรธหรือโมโห
2) อย่าเหยียบ – อย่าเหยียบสุนัข หรือทำให้มันตกใจ
3) อย่าแยก – อย่าใช้มือเปล่าแยกสุนัขที่กำลังกัดกัน
4) อย่าหยิบ – อย่าหยิบชามอาหารของสุนัขขณะกำลังกิน
5) อย่ายุ่ง – อย่ายุ่งกับสุนัขที่ไม่รู้จักหรืออยู่นอกบ้าน รวมถึงสุนัขที่ไม่ทราบประวัติ

นอกจากนี้ ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์หรือซากสัตว์ที่สงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้า และไม่ควรรับประทานผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่มีเชื้อโรคหรือดื่มน้ำนมจากสัตว์ที่ติดโรคนี้ หากประชาชนถูกสุนัข กัด ข่วน หรือเลียบาดแผล แม้เพียงเล็กน้อย ควรรีบ “ล้างแผล ใส่ยา กักหมา หาหมอ ฉีดวัคซีนให้ครบ” คือ ให้รีบล้างแผลด้วยน้ำสะอาด เปิดให้ไหลผ่านบาดแผล ถูสบู่อย่างแผ่วเบาให้เข้าถึงรอยลึกของบาดแผล อย่างน้อย 15 นาที ทายาด้วยโพวิโดน-ไอโอดีน รีบไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ครบ ตรงตามวันนัด กักสัตว์เพื่อดูอาการอย่างน้อย 10 วัน หากสัตว์ตายให้ส่งสัตว์ตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า นอกจากนี้ผู้เลี้ยงควรนำสุนัข และแมวไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำทุกปี ซึ่งจะช่วยให้ภูมิคุ้มกันโรคในสัตว์อยู่สูงถึงระดับที่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ และหากมีอาการเจ็บป่วยดังกล่าว
ขอให้รีบไปพบแพทย์ ณ โรงพยาบาลทหารทั้ง 10 แห่งในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อคัดกรอง วินิจฉัย และเข้าสู่ระบบการรักษาโดยเร็ว จึงขอเรียนให้พี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือทราบ เพื่อให้เกิดความมั่นใจได้ว่า กองทัพภาคที่ 3 โดย โรงพยาบาลทหารทั้ง 10 แห่งในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมที่จะให้การช่วยเหลือประชาชน ในยามวิกฤตทุกโอกาส
ปรีชา นุตจรัส รายงานข่าว