วันที่ 15 พฤษภาคม 2568 – นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายธานี แสงรัตน์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล
นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน นางศิริรัตน์ ศรีชาติ อัครราชทูตที่ปรึกษา(ฝ่ายแรงงาน) และคณะผู้บริหาร ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นและสมเกียรติจาก นายคิม ดง ยอน ผู้ว่าราชการจังหวัดคย็องกี สาธารณรัฐเกาหลี ในโอกาสเยือนทำเนียบผู้ว่าราชการอย่างเป็นทางการ
จังหวัดคย็องกี (Gyeonggi) เป็นเมืองใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ด้านประชากร (กว่า13ล้านคน) ครอบคลุมประชากรถึง 27% ของประเทศ และเป็นศูนย์รวมแรงงานไทยกว่า 60,000 คน ซึ่งคิดเป็น หนึ่งในสามของแรงงานไทยทั้งหมดในเกาหลีใต้ จึงนับเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญในการขับเคลื่อนแรงงานไทยในต่างแดน
ผู้ว่าฯ คย็องกี กล่าวต้อนรับคณะไทยด้วยมิตรไมตรีที่แน่นแฟ้น พร้อมกล่าวถึงการพบกันกับ รมว. พิพัฒน์ ว่าในวัฒนธรรมเกาหลี การพบกันสามครั้งไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่คือพรหมลิขิต ความสัมพันธ์ระหว่างผมกับท่านรัฐมนตรีจึงไม่ใช่แค่ระดับทางการ แต่เป็นความผูกพันที่มีความหมายลึกซึ้ง และจะนำพาความร่วมมือที่ยิ่งใหญ่ต่อไปในอนาคต
ในการหารือครั้งนี้ ผู้ว่าฯ คย็องกีได้นำเสนอนโยบายด้านแรงงานต่างชาติที่ก้าวหน้า เช่น
•โครงการ “Happy Housing” ที่จัดหาที่พักราคาย่อมเยาโดยรัฐ
•การให้คำปรึกษาด้านสิทธิมนุษยชน การเปลี่ยนงาน และความปลอดภัย
•การตั้ง “กรมสังคมผู้อพยพ” แห่งแรกของประเทศ เพื่อดูแลแรงงานต่างชาติอย่างเป็นระบบ
ด้านนายพิพัฒน์ กล่าวด้วยความประทับใจว่า เกาหลีใต้เป็นประเทศที่ไทยเคยร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่ในอดีต และวันนี้เราได้กลับมาสานสัมพันธ์อย่างสง่างามในเวทีแรงงาน ขอขอบคุณท่านผู้ว่าฯ ที่ให้เกียรติและดูแลแรงงานไทยเหมือนพี่น้องร่วมบ้านร่วมเมือง ผมขอฝากฝังคนไทยในคย็องกีทุกคนไว้ในความห่วงใยของท่าน พร้อมกันนี้ยังได้สะท้อนถึงความสัมพันธ์ส่วนตัวกับผู้ว่าฯ คย็องกี ที่ได้พบกันถึง 3 ครั้งในรอบไม่กี่ปีว่า “ไม่เพียงในนามรัฐมนตรี แต่ในฐานะ ‘เพื่อนแท้ทางนโยบาย’ ที่ร่วมกันสร้างโอกาสใหม่ให้แรงงานไทยในดินแดนแห่งโอกาสอย่างเกาหลีใต้
นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าวเสริมว่า ขอขอบคุณ หน่วยงานภาครัฐ คย็องกีที่ให้การดูแลแรงงานไทยอย่างดี และหวังว่าจะร่วมมือกันขยายโอกาสการจ้างงานในอนาคต โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจสำคัญอย่างคย็องกี ซึ่งเป็นหัวใจของตลาดแรงงานเกาหลี
การพบปะครั้งนี้ไม่เพียงแสดงถึง ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระดับผู้นำของทั้ง 2ประเทศ แต่ยังเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานไทยในเมืองที่มีบทบาททางเศรษฐกิจสูงสุดของเกาหลีใต้ ทั้งในด้านที่พัก ความมั่นคง และโอกาสก้าวหน้าในสายอาชีพ ของแรงงานไทย