วันที่ 15 พฤษภาคม 2568 เวลา 14.00 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าวสื่อมวลชน ชั้น 1 (ฝั่ง สส.) คณะอนุกรรมาธิการด้านการคลัง ในคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา นำโดย นางสาวชญาน์นันท์ ติยะตระการชัย ประธานคณะอนุกรรมาธิการ แถลงข่าวเรื่อง “การบริหารงบประมาณโครงการก่อสร้างอาคารของรัฐที่มีผลต่อฐานะการคลังของรัฐบาล” โดยกล่าวว่า ปัจจุบันสังคมกำลังติดตามการจัดสรรและการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างและการปรับปรุงอาคารขนาดใหญ่ของรัฐ เกี่ยวกับความโปร่งใสของกระบวนการ ตลอดจนความจำเป็นและความคุ้มค่า คณะกรรมาธิการฯ จึงได้มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาและติดตามการใช้จ่ายงบประมาณลงทุนเพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของรัฐ ทำให้ได้ข้อสรุปว่า งบประมาณรายจ่ายลงทุน โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของรัฐหลายโครงการ ซึ่งเป็นงบผูกพันระหว่างปี พ.ศ. 2565 – 2567 มีวงเงินรวมประมาณ 39,172 ล้านบาท ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมงบลงทุนเพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของรัฐในเอกสารงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2569 ดังนั้น คณะกรรมาธิการฯ จึงมีข้อเสนอแนะสำคัญต่อรัฐบาล เพื่อการใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่าต่อสาธารณะ อาทิ 1. รัฐบาลควรพิจารณาชะลอ ปรับลด หรือตัดโครงการก่อสร้างที่ไม่จำเป็นหรือไม่เร่งด่วนในเชิงเศรษฐกิจหรือสังคม และอาจสร้างภาระงบประมาณระยะยาว โดยเฉพาะโครงการที่มีลักษณะซ้ำซ้อนหรือให้ประโยชน์ต่อกลุ่มเป้าหมายจำกัด เพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการจัดสรรงบประมาณในโครงการที่สร้างผลตอบแทนทางสังคมสูงกว่า และเร่งรัดเบิกจ่ายได้จริงในปีงบประมาณ 2. ส่งเสริมการใช้พื้นที่ร่วมกันหรือเช่าพื้นที่จากภาคเอกชนแทนการก่อสร้างใหม่ เพื่อประหยัดงบประมาณลงทุนระยะยาว ซึ่งอาจมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจมากกว่าการลงทุนก่อสร้างใหม่ และสามารถปรับเปลี่ยนตามความต้องการได้ยืดหยุ่นกว่า 3. ภาครัฐควรกำหนด “แบบกลาง” สำหรับการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างพื้นฐาน เช่น โรงพยาบาล สถานีตำรวจ โรงเรียน หรือศูนย์ราชการ เพื่อควบคุมคุณภาพ ลดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย และป้องกันปัญหาความแตกต่างของต้นทุนก่อสร้างโดยไม่มีเหตุผลเชิงวิศวกรรม ทั้งยังช่วยลดระยะเวลาการอนุมัติแบบก่อสร้างและการดำเนินงาน 4. สนับสนุนบริษัทคนไทยในการเข้าร่วมดำเนินโครงการของภาครัฐ โดยเฉพาะในระดับ SMEs และผู้รับเหมาท้องถิ่น ด้วยมาตรการเอื้ออำนวย เช่น การแบ่งสัญญาเป็นขนาดย่อย การให้แต้มต่อในเกณฑ์ประเมิน หรือการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค 5. คืนงบประมาณส่วนเกินและงบประมาณที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้เข้าสู่คลังภายในปีงบประมาณ 2569 เพื่อให้การบริหารงบประมาณโปร่งใสและลดปัญหาเงินคงค้างในระบบ และ 6. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบงบประมาณและโครงการรัฐ เช่น แพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับรายงานความคืบหน้า การจัดเวทีรับฟังความเห็นระดับพื้นที่ หรือการสนับสนุนภาคประชาสังคมให้เป็นกลไกตรวจสอบคู่ขนาน เพื่อเสริมสร้างความโปร่งใสและความไว้วางใจต่อการใช้งบประมาณแผ่นดิน
Related posts
-
ภูไทสุโขทัยออนไลน์ / กมธ.วิสามัญฯ Entertainment Complex วุฒิสภา แถลงสรุปผลการประชุม กมธ. Entertainment Complex ครั้งที่ 3
16/05/2025 admin1 ปิดความเห็น บน ภูไทสุโขทัยออนไลน์ / กมธ.วิสามัญฯ Entertainment Complex วุฒิสภา แถลงสรุปผลการประชุม กมธ. Entertainment Complex ครั้งที่ 3วันที่ 15 พฤษภาค... -
ภูไทสุโขทัยออนไลน์ / “สว. ภาคใต้ล่าง ร่วมถกแนวทางสันติสุขชายแดนใต้กับ กอ.รมน. – ผู้ว่าฯ ปัตตานี”
15/05/2025 admin1 ปิดความเห็น บน ภูไทสุโขทัยออนไลน์ / “สว. ภาคใต้ล่าง ร่วมถกแนวทางสันติสุขชายแดนใต้กับ กอ.รมน. – ผู้ว่าฯ ปัตตานี”. วันที่ 13 พฤษภ... -
ภูไทสุโขทัยออนไลน์ / “สว. ใต้ล่าง ลุยพื้นที่นราธิวาส รับฟังปัญหาประชาชน เดินหน้าผลักดันทุกข้อเสนอเข้าสู่กลไกวุฒิสภา”
15/05/2025 admin1 ปิดความเห็น บน ภูไทสุโขทัยออนไลน์ / “สว. ใต้ล่าง ลุยพื้นที่นราธิวาส รับฟังปัญหาประชาชน เดินหน้าผลักดันทุกข้อเสนอเข้าสู่กลไกวุฒิสภา” เมื่อวันที่ 13...