ศอ.บต. ระดมนักวิจัย แลกเปลี่ยนแนวคิดการพัฒนาผ่านงานวิจัย ด้านเลขาฯ ศอ.บต. ย้ำ!!!! ให้ทุกภาคส่วนคำนึงถึงคุณค่าผลงานให้มีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์ของประชาชนชายแดนใต้

ศอ.บต. ระดมนักวิจัย แลกเปลี่ยนแนวคิดการพัฒนาผ่านงานวิจัย ด้านเลขาฯ ศอ.บต. ย้ำ!!!! ให้ทุกภาคส่วนคำนึงถึงคุณค่าผลงานให้มีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์ของประชาชนชายแดนใต้

 

วันที่ 6 กันยายน 2565 พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธานการประชุมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเพื่อการพัฒนานักวิจัยและการบริหารจัดการงานวิจัย เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับนักวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนภายใต้ความร่วมมือกับ สำนักงานวิจัยแห่งชาติ(วช.) ในปีงบประมาณ 2565 โดยมี นายบุญพาศ รักนุ้ย รองเลขาธิการ ศอ.บต. ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. (กรมประชาสัมพันธ์) ผู้แทนจากสำนักงานวิจัยแห่งชาติ(วช.) ผู้แทนนักวิจัยจากสถาบันการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุมปัญจเพชร ชั้น 3 ศอ.บต./ผ่านระบบ zoom meeting

ทั้งนี้ในที่ประชุมได้มีการรายงานผลสรุปข้อมูลของผู้รับทุนสนับสนุนการวิจัยภายใต้ความร่วมมือกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปี256๓ และปี๒๕๖๕ ซึ่งได้มีการขับเคลื่อนโครงการวิจัยเพื่อการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยศอ.บต.และสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการวิจัยเพื่อการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา และได้สนับสนุนทุนให้แก่นักวิจัยจำนวน 39 ทุนด้วย นอกจากนี้ในที่ประชุมผู้แทนนักวิจัยได้นำเสนอตัวอย่างงานวิจัยตามกรอบวิจัย 1 – 5 ที่ได้รับทุนสนับสนุนประจำปีงบประมาณ 2565 อาทิ กรอบวิจัยที่ 1 การเสริมสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่อง “วิจัยปฏิบัติการเพื่อพัฒนาสื่อพหุวัฒนธรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ภาษาและเสริมสร้างทักษะการอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจในพื้นที่ชายแดนภาคใต้”

กรอบวิจัยที่ 2 การพัฒนาส่งเสริม ศักยภาพของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่และยกระดับเศรษฐกิจฐานรากเรื่อง “การพัฒนาวัสดุยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกตามแนวทางเศรษฐกิจใหม่ “BCG” กรอบวิจัยที่ 3 การเพิ่มประสิทธิภาพทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เรื่อง “การส่งเสริมและการพัฒนาศักยภาพการเลี้ยงแพะพื้นเมือง เพื่อยกระดับรายได้ของเยาวชนกลุ่มเปราะบางในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” กรอบวิจัยที่ 4 การพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมการผลิต การค้า การลงทุน ทั้งในภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ(การท่องเที่ยว)เรื่อง “การยกระดับการท่องเที่ยวโดยใช้ธุรกิจโฮมสเตย์เป็นฐานการพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจและสังคม เชิงพื้นที่จังหวัดยะลา” และกรอบวิจัยที่ 5 การกำหนดกรอบและกลไกการขับเคลื่อนพื้นที่ที่เป็นระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ชายแดน หรือSBEC เรื่อง “การเพิ่มทักษะแรงงานคืนถิ่นในพื้นที่ภาคใต้ชายแดนเพื่อรองรับความต้องการแรงงานภาคการเกษตรสวนปาล์มในประเทศมาเลเซียภายใต้โครงการเสริมสร้างความร่วมมือสามเหลี่ยมเศรษฐกิจไทย – มาเลเซีย – อินโดนีเซีย”

นอกจากนี้ยังได้มีการพิจารณาถึงกรอบการดำเนินงานร่วมกันระหว่างศอ.บต. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และนักวิชาการในพื้นที่ ประกอบด้วย การส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ระหว่าง วช.และ ศอ.บต. โดยมีส่วนร่วมในการดำเนินการพิจารณา หัวข้อวิจัยและสนับสนุนโครงการวิจัยเพื่อการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้บรรลุเป้าหมาย การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการวิจัยและนวัตกรรมภายใต้โครงการวิจัยเพื่อการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการสร้างเครือข่ายนักวิจัยเพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ไปสู่เป้าหมาย “กินดี อยู่ได้ เข้าใจกัน” และการส่งเสริมการเผยแพร่และการประยุกต์ผลการวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามข้อเสนอนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้

ขณะที่ด้านเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า เรามีเป้าหมายเดียวกันคือการนำความสงบและสันติสุขคืนสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนั้นขอให้ทุกภาคส่วนผนึกกำลังร่วมกันคิดค้นงานวิจัยโดยให้คำนึงถึงคุณค่าของผลงาน หาความสมดุล ให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ ต่อยอดและเติมเต็มช่องว่างในจุดที่บกพร่องเพื่อให้ได้ผลงานที่มีคุณภาพ สามารถนำกลับมาพัฒนาพื้นที่ ตลอดจนยกระดับคุณภาพของพี่น้องประชาชนให้มีความมั่นคงทางด้านอาชีพ และรายได้ได้อย่างยั่งยืนต่อไป

 

Related posts