“อนุทิน” เปิดมหกรรมจัดการความรู้จากบทเรียนโควิด 19 และการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุขประจำปี 2565 ชูพัฒนาระบบสุขภาพยั่งยืนหลังวิกฤตโควิด 19 พร้อมแสดงความยินดี 5 นักการสาธารณสุขดีเด่นรางวัล “ชัยนาทนเรนทร”

“อนุทิน” เปิดมหกรรมจัดการความรู้จากบทเรียนโควิด 19 และการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุขประจำปี 2565 ชูพัฒนาระบบสุขภาพยั่งยืนหลังวิกฤตโควิด 19 พร้อมแสดงความยินดี 5 นักการสาธารณสุขดีเด่นรางวัล “ชัยนาทนเรนทร”

 


วันที่ 15 ก.ย. 65 ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี หาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีเปิดมหกรรมจัดการความรู้จากบทเรียนโควิด 19 และการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2565 “การพัฒนาระบบสุขภาพที่ยั่งยืน หลังวิกฤตการณ์โควิด 19”
พร้อมมอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีแก่นักการสาธารณสุขดีเด่นรางวัลชัยนาทนเรนทร ประจำปี 2564 จำนวน 5 คน โดยมีผู้บริหารและบุคลกรในแวดวงกระทรวงสาธารณสุข และที่เกี่ยวข้องจากทั่วประเทศ เข้าร่วมจำนวนมาก โดยงานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-16 ก.ย. 65


นายอนุทิน กล่าวว่า ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤติโรคโควิด 19 มาเกือบ 3 ปี ส่งผลกระทบทั้งต่อระบบสาธารณสุข สังคม และเศรษฐกิจ แต่จากการบริหารจัดการแบบบูรณาการความร่วมมือในการป้องกันควบคุมโรคจากทุกภาคส่วน และการมารับวัคซีนของประชาชน ช่วยให้ประชาชนจำนวนมากมีภูมิคุ้มกัน ขณะที่เชื้อมีความรุนแรงลดลง จึงทำให้สถานการณ์เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น สามารถเปิดประเทศ ดำเนินชีวิ ตและเศรษฐกิจได้ใกล้เคียงปกติมากขึ้น
โดยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 โรคโควิด 19 จะถูกปรับจากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง การถอดบทเรียนจากโรคโควิด 19 จึงมีความสำคัญในการช่วยเตรียมการรับมือกับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข และโรคติดต่ออุบัติใหม่อื่นๆในอนาคต
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า สำหรับนักการสาธารณสุขดีเด่น รางวัลชัยนาทนเรนทร เป็นรางวัลที่มอบให้กับบุคคลที่ปฏิบัติงานหรือสนับสนุนงานด้านสาธารณสุข ทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ และเชิดชูเกียรติผู้ที่อุทิศตนในการพัฒนางานด้านสาธารณสุขที่มีผลงานโดดเด่นในระดับชาติ


โดยแบ่งเป็น 5 ประเภท ประกาศผลผู้ได้รับรางวัลในวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงสาธารณสุข 27 พฤศจิกายน ของทุกปี โดยปี 2564 มีผู้ได้รับรางวัล ดังนี้ 1.ประเภทบริหาร คือ ดร.นพ.อุทัย สุดสุข ประธานที่ปรึกษามูลนิธิอุทัย สุดสุข ซึ่งเป็นผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุขคนแรกของประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้รับเลือกเป็นประธานคณะกรรมการบริหารองค์การอนามัยโลก (WHO Executive Board), 2.ประเภทบริการ คือ นพ.สมจิตต์ ชี้เจริญ นายแพทย์เชี่ยวชาญสาขาจักษุวิทยา โรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ , 3.ประเภทวิชาการ คือ พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ , 4.ประเภทผู้นำชุมชน คือ นายสมร สอนจันทร์ ผู้ใหญ่บ้านบ้านเขาใหญ่ หมู่ 1 ต.ท่ามะขาม อ.เมือง จ.กาญจนบุรี และ 5.ประเภทประชาชน คือ นายนฤชิต แสงเทียนท์ อสม.เทศบาลนครแหลมฉบัง อ.บางละมุง จ.ชลบุรี


ด้าน นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การจัดประชุมวิชาการครั้งนี้ มีผู้ส่งผลงานนำเสนอจำนวน 2,576 เรื่อง ใน 10 สาขา คือ การแพทย์, การพยาบาล, วิทยาศาสตร์ LAB, ทันตสาธารณสุข, อาหาร ยา และการคุ้มครองผู้บริโภค, การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก,สมุนไพร กัญชา กัญชง, การส่งเสริมสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อม, โควิด 19, ระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ และบริหารสาธารณสุข นโยบายสาธารณสุขทั่วไป เศรษฐกิจสุขภาพ
โดยมีผลงานที่ผ่านการคัดกรองจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญทุกสาขาอาชีพของกระทรวงสาธารณสุขและมหาวิทยาลัยต่างๆ นำเสนอในการประชุมวิชาการ จำนวน 816 เรื่อง ได้แก่ ผลงานวิจัยนำเสนอด้วยวาจา 410 เรื่อง ผลงานวิจัยนำเสนอด้วยโปสเตอร์ 284 เรื่อง และนวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์ 112 เรื่อง และจะคัดเลือกผู้มีผลงานวิจัยยอดเยี่ยมประจำปี 2565 ต่อไป
/////

Related posts