รัฐบาลสั่งการ จังหวัด เร่งแก้ปัญหายาเสพติด วัด 3 เดือนทุกจังหวัดสถานการณ์ยาเสพติดต้องดีขึ้น เป้าหมายคืนความปลอดภัยให้ชุมชน   

รัฐบาลสั่งการ จังหวัด เร่งแก้ปัญหายาเสพติด วัด 3 เดือนทุกจังหวัดสถานการณ์ยาเสพติดต้องดีขึ้น เป้าหมายคืนความปลอดภัยให้ชุมชน   
วันที่ 29 พฤษภาคม 2567 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานประชุมชี้แจงปฏิบัติการเร่งรัดการดำเนินงานป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดระยะเร่งด่วน 3 เดือน  (1 มิถุนายน – 31 สิงหาคม 2567) โดยมีคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการดำเนินงานป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. นายมานะ ศิริพิทยาวัฒน์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส.หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ในพื้นที่เร่งด่วน 25 จังหวัด ณ ห้องประชุมกระทรวงยุติธรรม 10-09 (Auditorium) ชั้น 10 อาคารกระทรวงยุติธรรม และสำหรับจังหวัดอื่น ๆ อีก 52 จังหวัด จะมีการประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
 
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน กำหนดการแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นวาระของชาติ เนื่องจากปัญหายาที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยและความเชื่อมั่นของประชาชน  นายกรัฐมนตรีจึงได้ ลงนาม แต่งตั้ง คณะกรรมการติดตามเร่งรัดการดำเนินงานป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด เพื่อติดติดตามการแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาล และต้องการลดความรุนแรงของปัญหานี้ให้ได้โดยเร็ว โดยต้องเห็นผลในกำหนดระยะเวลา 90 วัน และกำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เจ้าหน้าที่ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง เด็ดขาด และเห็นผลโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในพื้นที่สีแดงที่มีปัญหายาเสพติดรุนแรง 25 จังหวัด โดยรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนและให้รางวัลแก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติสำเร็จตามเป้าหมาย ขณะเดียวกันก็จะมีบทลงโทษสำหรับเจ้าหน้าที่ที่บกพร่องและละเลยในการปฏิบัติ
 
พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า ปัญหายาเสพติดมีส่วนสัมพันธ์อย่างมากกับปัญหาคุณภาพชีวิต และจากการสำรวจความเห็นประชาชน ยังมองว่ายาเสพติดเป็นปัญหาในชุมชน และยังไม่พอใจในการแก้ไขปัญหายาเสพติด เราจึงต้องทำงานให้หนักและเป็นที่มาของการประชุมในครั้งนี้ โดยตนขอมอบนโยบาย เพื่อให้ดำเนินการในช่วง 3 เดือนเห็นผลเป็นรูปธรรม ดังนี้ 1.รัฐบาลมุ่งหวังแก้ไขปัญหายาเสพติดให้ประสบผลสำเร็จ ทำให้ประชาชนมีความพึงพอใจ และเกิดความเชื่อมั่น 2.เป้าหมายสูงสุด คือ การลดผลกระทบ หรือ ลดความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหายาเสพติดในพื้นที่เป้าหมาย 3.บริหารกลยุทธ์การขับเคลื่อนให้ดี ไม่ต่างคนต่างทำ 4. การแก้ไขปัญหาที่ตรงกับความต้องการ ของประชาชนมากที่สุด คือการแก้ไขปัญหาหน้าบ้าน หรืออีกนัยหนึ่ง ปัญหาแพร่ระบาด หรือ ปัญหาผู้เสพ 5.มีการวัดผลของการสร้างความพึงพอใจและความเชื่อมั่นของประชาชน ว่าเป็นอย่างไร ในทุกเดือน 6.ทุกจังหวัดจัดส่งแผนปฏิบัติการฯมาให้สำนักงาน ป.ป.ส. และให้ปฏิบัติโดยเร็ว และให้ทุกจังหวัด นอกเหนือจาก 25 จังหวัดเป้าหมาย ยึดเป็นภารกิจที่ต้องปฏิบัติเช่นเดียวกัน 7.ให้มีการเสนอนวัตกรรมในการแก้ปัญหาโดยคำนึงถึงความเหมาะสมของพื้นที่เป้าหมาย 8. ปฏิบัติการในวงกว้างพร้อมกันทั่วประเทศ เพื่อสร้างผลในวงกว้าง
 
ด้าน พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. ได้ชี้แจงให้ทราบถึง เป้าหมายหรือการวัดภาพรวมของปฏิบัติการ โดย 4 เป้าหมายที่ สำคัญ คือ 1. กลุ่มเป้าหมายที่กำหนดคือ นักค้ารายสำคัญ นักค้ารายย่อย เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับ ยาเสพติด ผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด ผู้มีอาการทางจิตเวชจากยาเสพติด ผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดในกระบวนการยุติธรรม และพื้นที่ สถานบันเทิง สถานประกอบการ และพื้นที่รอบสถานศึกษา ต้องได้รับการแก้ไข 2. สถานการณ์ยาเสพติดต้องลดลงทุกจังหวัด 3.ความเชื่อมั่นจากประชาชนในแต่ละจังหวัดต้องดีขึ้น และ 4. ความพึงพอใจของประชาชนชนในแต่ละจังหวัดต่อการแก้ไขปัญหายาเสพติดสูงขึ้น โดยวัดผลจากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน โดยสถาบันวิชาการและสำนักงานสถิติแห่งชาติ

Related posts