คณะกรรมาธิการทหารและความมั่นคงของรัฐวุฒิสภา พร้อมด้วย ศอ.บต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหาและพัฒนาจชต. ตั้งเป้า ปชช. ต้องอยู่ร่วมกัน ภายใต้วิถีพหุวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน

คณะกรรมาธิการทหารและความมั่นคงของรัฐวุฒิสภา พร้อมด้วย ศอ.บต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหาและพัฒนาจชต. ตั้งเป้า ปชช. ต้องอยู่ร่วมกัน ภายใต้วิถีพหุวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน

วันนี้ (27 สิงหาคม 2565) คณะกรรมาธิการการทหารและความมั่นคงของรัฐวุฒิสภา นำโดย พลเอก จีรศักดิ์ ชมประสพ รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สอง/ประธานคณะอนุกรรมาธิการ พร้อมด้วยพลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พลตรี อุทิศ อนันตานนท์ รองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมหารือถึงการสร้างสังคมพหุวัฒนธรรม และการศึกษาเพื่อความมั่นคง เพื่อยับยั้งกระบวนการบ่มเพาะเยาวชนในและนอกสถานศึกษา โดยมี ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. คณะทำงานของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า คณะทำงานศูนย์ขับเคลื่อนการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดผู้อำนวยการสำนัก/กอง เข้าร่วม ณ ห้องประชุมน้อมเกล้า ชั้น 1 ศอ.บต. ในโอกาสศึกษาดูงานเกี่ยวกับสังคมพหุวัฒนธรรมและการศึกษาเพื่อความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ในการนี้พลเอก จีรศักดิ์ ชมประสพ รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สอง/ประธานคณะอนุกรรมาธิการ กล่าวถึงบทบาทของคณะกรรมาธิการทหารฯว่า บทบาทหน้าที่และอำนาจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ กระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใด ๆที่เกี่ยวกับกิจการทางการทหารทั้งปวง อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และการพัฒนาประเทศและที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแบบองค์รวม พิจารณาศึกษา ติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ภายใต้บทบาทหน้าที่ของคณะทำงานฯ ซึ่งการลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในครั้งนี้ เพื่อติดตามปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ที่มีความสำคัญและส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อนำข้อเสนอแนะไปปรับใช้ในการแก้ไข ปัญหาร่วมกัน โดยมุ่งเน้นการสร้างการรับรู้มุมมองของสถานการณในด้านเดียวกัน ตลอดจนแก้ไขปัญหาตามแผนแม่บทของการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการยึดหลักศาสตร์พระราชา “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ดำเนินงานให้ไปในทิศทางเดียวกัน

ด้านพลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร กล่าวว่า พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ถือเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมและเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญที่ส่งผลก่อให้เกิดความเปราะบางมาอย่างยาวนาน นำไปสู่ความขัดแย้ง แตกแยก ตลอดจนปัญหาอื่นๆ ที่ตามมาหลายประการ
ดังนั้นรัฐบาลจะต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน อีกทั้งการแนวทางการขับเคลื่อนของคณะอนุกรรมาธิการฯ ทั้งเรื่องการศึกษา เพื่อความมั่นคง ในการลดระยะห่างของเยาวชน เพื่อเติมเต็มชุดความคิดใหม่ ลดความอคติ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุด หากส่วนใด ที่ศอ.บต. จะหนุนเสริมและร่วมกันบูรณาได้จะดำเนินการอย่างสุดความสามารถ เพื่อทำให้ประชาชนในพื้นที่อยู่ร่วมกันภายใต้วิถีพหุวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน

สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนงานศอ.บต. ได้นำเสนอถึงการส่งเสริมการยอมรับและตระหนักถึงคุณค่าของการอยู่ร่วมกัน บนความแตกต่างหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา อัตลักษณ์ และวัฒนธรรม เน้นการพัฒนาองค์ความรู้ให้กับเด็กและเยาวชนในการ อยู่ร่วมกันในวิถีพหุวัฒนธรรม การซ่อมแซมและปฎิสังขรณ์แหล่งเรียนรู้โบราณสถานศาสนสถาน พิพิธภัณฑ์เพื่อความภาคภูมิใจ การส่งเสริมและสนับสนุนวัฒนธรรมที่ยึดโยงความสัมพันธ์ที่ดีของทุกศาสนิกในอดีต เพื่อความภาคภูมิใจร่วมกัน การดูแลและฟื้นฟูชุมชนเปราะบาง ส่งเสริมการดำเนินชีวิตตามหลักความเชื่อทางศาสนา และศาสนิกสัมพันธ์ สร้างพื้นที่กลางจากมิติทางวัฒนธรรม
เช่นงานศิลปหัตถกรรม หอเฉลิมพระเกียรติ พิพิธภัณฑ์ และพื้นที่กลางจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และนันทนาการต่าง ๆ ส่งเสริมวิถีไทยชายแดนใต้ ส่งเสริมภาคีเครือข่ายทางวิชาการเพื่อเสนอตัวแบบสังคมพหุวัฒนธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ทุกฝ่ายยอมรับได้
และการสร้างมูลค่าของสังคมพหุวัฒนธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่งดงาม

นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการสรุปผลแนวทางการแก้ไขปัญหาทั้งด้านสถานการณ์ความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในภาพรวม การขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาเพื่อความมั่นคง เพื่อยับยั้งกระบวนการบ่มเพาะเยาวชนที่ได้มีการดำเนินการในห้วงที่ผ่านมา อีกทั้งยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตลอดจนเสนอแนะ ทั้งแผนงานบูรณาการพัฒนาเยาวชน การศึกษา สาธารณสุข
ทั้งระบบ การขับเคลื่อนงานของศูนย์สันติวิธี การส่งเสริมการมีอาชีพมีงานทำด้วยการส่งเสริมการพัฒนาอาชีพในสถานบันการศึกษา
และสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมที่หลากหลาย เพื่อนำมาซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหาทุกมิติ

Related posts