พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายคุณดร งามธุระ กรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย อัญเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานถวาย ณ วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดน่าน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายคุณดร งามธุระ กรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย อัญเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานถวาย ณ วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดน่าน

 

 
เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2567 เวลา 10.00 น. ที่วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ นายคุณดร งามธุระ กรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย อัญเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาถวาย ณ วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน โดยมีพระวชิราภินันท์ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร เจ้าคณะอำเภอบ้านหลวง เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วยนายนิวัฒน์ งามธุระ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน นำหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ประชาชนในพื้นที่ ร่วมเป็นเกียรติและร่วมปวารณาถวายจตุปัจจัย เพื่อน้อมเกล้าถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งนี้มีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทรัพย์ร่วมทำบุญ เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 1,199,999 บาท (หนึ่งล้านหนึ่งแสนเก้าหมื่นเก้าพันเก้าร้อยเก้าสิบเก้าบาทถ้วน) เพื่อนำไปทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และพระอารามหลวงพร้อมสืบทอดขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม

   
กฐินพระราชทาน เป็นกฐินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานผ้าพระกฐินและบริวารกฐินซึ่งเป็นของหลวงให้ส่วนราชการ กระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ตลอดจนคณะบุคคลที่สมควรขอพระราชทานอัญเชิญไปถวายยังพระอารามหลวงต่างๆ เนื่องจากเป็นประเพณีที่พุทธศาสนิกชนได้ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน เพื่อเป็นการอุปถัมภ์พระสงฆ์ที่จำพรรษาครบถ้วนไตรมาสให้ได้รับอานิสงส์ตามพระวินัย และเป็นทุนในการบูรณปฏิสังขรณ์พระอาราม โดยเป็นการรวมพลังแห่งความสามัคคีทั้งทางกาย วาจา และจิตใจในการสร้างบุญกุศล สร้างความสุขของการอยู่ร่วมกันในสังคม รวมทั้งเป็นการจรรโลงและส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้มั่นคงดำรงอยู่เจริญวัฒนาสถาพรสืบไป

   
สำหรับวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร เดิมชื่อ วัดหลวงกลางเวียง เจ้าผู้ครองนครน่าน พญาภูเข่ง เป็นผู้สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ.1949 พระวิหารหลวงวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร เป็นวิหารขนาดใหญ่ รูปทรง สร้างตามสถาปัตยกรรม ทางภาคเหนือ ลักษณะภายในโอ่โถง ด้านหน้ามีสิงห์คู่ ยืนตรงเชิงบันได ด้านละตัว มีทางเข้า 3 ทาง ประตูกลาง ทำเป็นประตูใหญ่ และประตูเล็ก อยู่ด้านซ้ายและด้านขวา มีทางขึ้นเป็นประตูเล็ก ๆ ตรงข้ามพระประธาน ด้านทิศตะวันออกและตะวันตกอีก 2 ข้าง ทำหลังคาซ้อนกัน 2 ชั้น มุขลดด้านหน้า และด้านหลัง หน้าบัน ตีด้วยแผ่นกระดานเรียงต่อกัน แล้วประดับที่ขอบเสา ด้านหน้าทุกต้น ตามลักษณะ สถาปัตยกรรมล้านนาไทย ภายในพระวิหารกว้างขวาง มีเสาปูนกลมขนาดใหญ่ ขนาด 2 คนโอบรอบ จำหลัก ลวดลายปูนปั้นนูนสูงไว้ เหนือจากระดับพื้นพระวิหาร 1.50 เมตร เป็นลวดลาย กนกระย้าย้อย เหมือนลวดลาย ที่เสาในวิหารวัดภูมินทร์ ภายในวัดประดิษฐาน เจดีย์ช้างค้ำ ซึ่งเป็นศิลปสมัยสุโขทัย อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 20 รอบเจดีย์ มีรูปปั้นช้างปูนปั้น เพียงครึ่งตัวประดับอยู่โดยรอบ นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปทองคำปางลีลา คือ พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี ซึ่งเป็นทองคำ 65 % สูง 145 เซ็นติเมตร ยอดพระโมฬีทำเสริมเมื่อ พ.ศ. 2442 หนัก 69 บาท เจ้างั่วฬารผาสุม เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 14 แห่งราชวงค์ภูคา เป็นผู้สร้าง เมื่อวันพุธ เดือน 6 เหนือ พ.ศ. 1969 เป็นศิลปะสุโขทัย ประดิษฐานอยู่ที่หอพระไตรปิฎก ใหญ่ที่สุดในประเทศ

 

/บุญยงค์ สดสอาด นายกสมาคมสื่อมวลชนจังหวัดน่าน รายงาน

Related posts