รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดการประชุมระดับภูมิภาค เรื่อง “การสร้างสังคมที่ยุติธรรม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดการประชุมระดับภูมิภาค เรื่อง “การสร้างสังคมที่ยุติธรรม : เส้นทางแห่งความยุติธรรมที่ครอบคลุมสำหรับผู้คนและสิ่งแวดล้อมในเอเชียและแปซิฟิก“ (Regional Conference on Achieving Just Societies : Inclusive Justice Pathways for People and Planet in Asia and the Pacific) มุ่งยกระดับหลักนิติธรรม โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง

 

วันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 ระหว่างเวลา 8.30-10.30 น. พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เป็นประธานกล่าวเปิดและต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุมระดับภูมิภาค เรื่อง “การสร้างสังคมที่ยุติธรรม : เส้นทางแห่งความยุติธรรมที่ครอบคลุมสำหรับผู้คนและสิ่งแวดล้อมในเอเชียและแปซิฟิก“ (Regional Conference on Achieving Just Societies : Inclusive Justice Pathways for People and Planet in Asia and the Pacific) ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (Thailand Institute of Justice : TIJ) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme : UNDP) องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UN Environment Programme : UNEP) และเครือข่ายพันธมิตร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ และต้นแบบที่ดีในการยกระดับการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง รวมถึงการเข้าถึงความยุติธรรมที่คำนึงถึงกลุ่มเปราะบาง การสนับสนุนทรัพยากร และการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการประชุมฯ ประกอบด้วย ผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมจากประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก

ในการกล่าวเปิดประชุมฯ ดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เน้นย้ำความสำคัญของแนวคิด “ความยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง” ซึ่งถือเป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญของการอยู่ร่วมกันในสังคมภายใต้ หลักประชาธิปไตย หลักสิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรม รวมถึงได้ยืนยันนโยบายรัฐบาลที่จะยึดมั่นในหลักนิติธรรม (Rule of Law) และความโปร่งใส(Transparency) ในการบริหารราชการแผ่นดิน สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ตลอดจนสร้างการยอมรับจากนานาประเทศ

สำหรับการบังคับใช้กฎหมายนั้น ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิมนุษยชน เป็นสำคัญ รวมถึงต้องไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือสร้างภาระให้กับประชาชนมากจนเกินสมควรแก่เหตุ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวให้สำเร็จต้องอาศัยความร่วมมือและการทำงานแบบบูรณาการจากทุกฝ่าย ไม่เพียงแต่ภาครัฐ แต่รวมถึงภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชนเพื่อสร้างความยุติธรรมที่ยึดหลักการมีประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างยั่งยืน

นอกจากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้เสนอประเด็นที่ต้องการผลักดันให้สำเร็จ ได้แก่ (1) การผลักดันและยกระดับกระบวนการยุติธรรมทางเลือก (Alternative Justice) และกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) ให้เป็นที่ยอมรับ (2) การเสนอกฏหมายป้องกันการฟ้องคดีปิดปาก (Anti-SLAPP Law) เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็ง และป้องกันการใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือคุกคามประชาชน (3) การพัฒนามาตรการต่อต้านสินบนระหว่างประเทศ รวมถึงการบังคับใช้มาตรการป้องกันการฟอกเงินและมาตรการเชิงภาษีอย่างมีประสิทธิภาพ (4) การกำหนดให้มีมาตรการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence : HRDD) เพื่อกำกับดูแลการประกอบธุรกิจ ตลอดจนป้องกันและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ (5) การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาและการใช้โทษอาญา โดยให้ความสำคัญกับการบำบัด ฟื้นฟู และพัฒนาคน โดยเฉพาะผู้เกี่ยวข้องกับคดียาเสพติด ให้ได้รับการฟื้นฟูและพัฒนาชีวิตอย่างยั่งยืน (6) การผลักดันให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นฐานความผิดและมีโทษทางอาญาในตัวเอง และสนับสนุนให้มีการจัดตั้งศาลแผนกสิทธิมนุษยชนในศาลยุติธรรม เพื่อรับรองว่าสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนจะได้รับการคุ้มครอง และกระบวนการยุติธรรมจะเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ การประชุมฯ ดังกล่าว กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-13 พฤศจิกายน 2567 โดยการที่ประเทศไทยได้รับโอกาสเป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดการประชุมฯ ครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ยืนยันถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนากระบวนการยุติธรรมตามครรลองของหลักนิติธรรมและนำความต้องการของประชาชน มาเป็นหัวใจสำคัญในทำงานภายใต้กระบวนการยุติธรรมอย่างแท้จริง

Related posts