ผอ.ศปพร. ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ เดินตามรอยพ่อ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ณ สะพานไม้ “บ้านเจาะบากง” อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส
วันที่ 2 สิงหาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พลตรี เฉลิมพร ขำเขียว ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 / ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เดินทางลงพื้นที่ตรวจภูมิประเทศ พร้อมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ เดินตามรอยพ่อ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ สะพานไม้ “บ้านเจาะบากง” อำเภอ สุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส
สะพานไม้ “บ้านเจาะบากง” เป็นสถานที่เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2524 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จทรงงานในพื้นที่อำเภอสุไหงโก-ลก โดยไม่ได้มีการแจ้งหมายกำหนดการให้ราษฎรในพื้นที่ทราบเป็นการล่วงหน้าแต่อย่างใด เสด็จฯ ถึงบ้านเจาะบากง ซึ่งเป็นกลุ่มหมู่บ้านย่อยของ บ้านโต๊ะเวาะ หมู่ที่ 3 ตำบลปูโยะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส มีราษฎรชาวไทยพุทธและไทยมุสลิม อยู่ร่วมกันด้วยความรัก ความสามัคคี มากกว่า 140 ปี (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2417) และห้วงเวลาดังกล่าวเป็นฤดูการทำนา ทันทีที่ได้ยินเสียงรถยนต์ของตำรวจทางหลวงที่นำขบวนเสด็จฯ ชาวบ้านละแวกนั้นต่างวิ่งกันออกมารับเสด็จฯ
โดยขณะนั้น ลุงพร้อม (นายพร้อม จินนาบุตร ขณะนั้นอายุ 47 ปี ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว ได้นั่งรับเสด็จฯ เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นลุงพร้อม จึงได้ทรงรับสั่งให้หยุดรถพระที่นั่ง แล้วตรัสถามลุงพร้อมว่าที่นี่ที่ไหน และได้ตรัสถามถึงสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งลุงพร้อม เป็นผู้ยกมือกราบบังคมทูล และระหว่างนั้น ลุงพร้อม ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานให้มีการขุดคลองเชื่อมต่อคลองเจาะบากง เพื่อให้ครัวเรือนในพื้นที่ได้ใช้แหล่งน้ำสำหรับทำการเกษตร หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน หน่วยงานราชการ จึงได้มีโครงการขุดคลองเชื่อมต่อคลองโต๊ะแดง และก่อสร้างสะพานคอนกรีตแทนสะพานไม้เดิม ทำให้ราษฎรในพื้นที่ตำบลปูโยะ ได้อยู่ดีมีสุขจนถึงทุกวันนี้ แม้เวลาจะผ่านเลยมากกว่า 41 ปี เหตุการณ์ดังกล่าวยังคงตราตรึงอยู่ในหัวใจของประสพนิกรชาวเจาะบากงและชาวจังหวัดนราธิวาส ตราบจนทุกวันนี้
ทั้งนี้ พลตรี เฉลิมพร ขำเขียว ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กล่าวว่า สะพานไม้ “บ้านเจาะบากง” สามารถส่งเสริม ให้เกิดเป็นการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ได้เพราะมีความสมบูรณ์ของธรรมชาติในหมู่บ้าน สามารถสร้างกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศธรรมชาติในการศึกษาธรรมชาติ พร้อมทั้งยังมีหมอพื้นบ้านนวดแผนไทย สามารถให้ความรู้ด้านสมุนไพร พี่น้องประชาชนที่สนใจสามารถมารับประทานอาหารพื้นบ้าน และบุฟเฟ่ต์ผลไม้ในสวน ตลอดจนส่งเสริมอาชีพการทำจักสาน เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนฐานราก ให้มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ เพื่อให้ชุมชนเข้มแข็งพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน สามารถสร้างงาน สร้างรายได้และการแก้ไขปัญหาได้ตรงความต้องการของชุมชน ประชาชนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น “ เศรษฐกิจฐานรากมั่นคงและชุมชนพึ่งตนเองได้”