ศรีสะเกษ ปภ.เตือนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยและผลกระทบจากการเกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำเอ่อล้นตลิ่ง แจ้งเตือนประชาชนให้เฝ้าระวังและติดตามข่าวสารเกี่ยวกับสภาวะอากาศของทางราชการอย่างใกล้ชิด
เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลากลาง จ.ศรีสะเกษ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นายสำรวย เกษกุล รอง ผวจ.ศรีสะเกษ ปฏิบัติราชการแทน ผวจ.ศรีสะเกษ ผู้อำนวยการจังหวัด เปิดเผยว่า ตนได้ลงนามในโทรสารในราชการ ด่วนที่สุด ที่ ศก(กอปภ.จ.)0021/ว 112 ลงวันที่ 25 ส.ค.2565 ถึง นายอำเภอ ทุกอำเภอ/ผู้อำนวยการอำเภอ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองศรีสะเกษ และนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองกันทรลักษ์/ผู้อำนวยการท้องถิ่น แจ้งว่า กองอำนวยกองป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดศรีสะเกษ ได้รับแจ้งจากกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.) ได้มีประกาศ ฉบับที่ 21/2565 เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2565 พบว่ามีฝนตกหนักในลุ่มน้ำชี ในช่วงวันที่ 19-22 ส.ค. 2565 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและมีระดับน้ำล้นตลิ่ง แม่น้ำชีไหลหลากเข้าท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำเกษตรกรรม พื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ และพื้นที่ชุมชนประมาณ 0.30-1.50 เมตร ในช่วงวันที่ 26 – 31 ส.ค. 2565
นายสำรวย เกษกุล รอง ผวจ.ศรีสะเกษ เปิดเผยต่อไปว่า สำหรับ จ.ศรีสะเกษ พื้นที่อาจจะได้รับผลกระทบ ได้แก่ อ.กันทรารมย์ และอ.ยางชุมน้อย ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดศรีสะเกษ ได้ประเมินสถานการณ์น้ำในพื้นที่ พบว่ามีฝนตกสะสมในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 16 แห่ง ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเก็บกักเฉลี่ยรวมประมาณ 100 % สำหรับปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ ได้แก่ เขื่อนหัวนา ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเก็บกัก 112.99 % เขื่อนราษีไศล ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเก็บกัก คิดเป็น 112.99 % ซึ่งพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยที่อาจจะได้รับผลกระทบและทำให้เกิดปัญหาอุทกภัย ดังนี้ พื้นที่เสี่ยงน้ำป่าไหลหลาก ได้แก่ บริเวณพื้นที่ อ.ภูสิงห์ อ.ขุนหาญ และ อ.กันทรลักษ์ พื้นที่เสี่ยงน้ำเอ่อล้นตลิ่ง บริเวณพื้นที่ราบลุ่มต่ำติดลำน้ำห้วยทับทัน ได้แก่ อ.ห้วยทับทันอ.บึงบูรพ์ และ อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ บริเวณพื้นที่ราบลุ่มต่ำติดลำน้ำห้วยสำราญ ได้แก่ อ.ภูสิงห์ อ.ขุขันธ์ อ.ปรางค์กู่ อ.อุทุมพรพิสัย อ.วังหิน และอ.เมืองศรีสะเกษ บริเวณพื้นที่ราบลุ่มต่ำติดลำน้ำห้วยทา ได้แก่ อ.ขุนหาญ อ.ไพรบึง อ.ศรีรัตนะ และอ.พยุห์ บริเวณพื้นที่ราบลุ่มน้ำห้วยขะยูง ได้แก่ อ.กันทรลักษ์ อ.เบญจลักษ์ อ.น้ำเกลี้ยง และ อ.โนนคูณ บริเวณพื้นที่ราบลุ่มต่ำติดลำน้ำมูล ได้แก่ อ.ศิลาลาด อ.ราษีไศล อ.ยางชุมน้อย และอ.กันทรารมย์
นายสำรวย เกษกุล รอง ผวจ.ศรีสะเกษ เปิดเผยต่อไปว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์อุทกภัยและน้ำป่าไหลหลาก น้ำเอ่อล้นตลิ่ง ในพื้นที่ จึงให้อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการประชาสัมพันธ์และแจ้งเตือนให้เข้าถึงราษฎรที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยในพื้นที่
ดังกล่าว เช่น ผ่านหอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน รถกระจายเสียงขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเครือข่ายอาสาสมัครเตือนภัยต่าง ๆ ในพื้นที่ เพื่อให้เฝ้าระวังและติดตามข่าวสารเกี่ยวกับสภาวะอากาศของทางราชการอย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยและผลกระทบจากการเกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำเอ่อล้นตลิ่งในพื้นที่ แจ้งให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารท้องถิ่น จิตอาสา อปพร. มิสเตอร์เตือนภัย ตรวจตราฝ้าระวังสถานการณ์น้ำตามลุ่มน้ำต่าง ๆ ดังกล่าวในพื้นที่ หากมีสถานการณ์สาธารณภัยให้เข้า
ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเพื่อบรรเทาภัยให้แก่ราษฎรในพื้นที่ โดยเร่งด่วน พร้อมทั้งรายงานเหตุสถานการณ์ให้นายอำเภอทราบทันที ให้ดำเนินการกำจัดวัชพืช ขยะตามเส้นทางน้ำ การพร่องน้ำในแหล่งน้ำ การเร่งระบายน้ำ การเปิดทางน้ำออกจากพื้นที่ชุมชนที่ประสบปัญหาน้ำท่วม เตรียมพร้อมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือ ยานพาหนะ เครื่องจักรกลกู้ภัย รวมทั้งบุคลากรให้พร้อมเข้าดำเนินการให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที ตลอด 24 ชั่วโมง
นายสำรวย เกษกุล รอง ผวจ.ศรีสะเกษ เปิดเผยด้วยว่า หากเกิดสถานการณ์ขึ้นให้เข้าดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้แก่ราษฎรในพื้นที่โดยเร่งด่วนตามอำนาจหน้าที่ หากเกินขีดความสามารถให้รายงานขอรับการสนับสนุนไปยังจังหวัด พร้อมทั้งรายงานสถานการณ์ให้ กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดศรีสะเกษทราบ ทางโทรศัพท์หมายเลข 045-612589 , 045 – 617956-8 โทรสารหมายเลข 045 – 612589, 045 – 617956 หรือหมายเลขสายด่วน 1784 แอพพลิเคชั่น Thai Disaster Alert หรือช่องทางไลน์ “ศก.รู้ทันภัย” ให้อำเภอแจ้งเทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบลในเขตพื้นที่ได้ทราบและถือปฏิบัติด้วยเช่นกัน//////
ภาพ / ข่าว ศิริเกษ หมายสุข ผู้สื่อข่าวประจำ จ. ศรีสะเกษ