“ปตท. ลงนามความร่วมมือ มนร. การวิจัยและพัฒนาชีวเภสัชภัณฑ์จากสมุนไพรในสวนฯ”

“ปตท. ลงนามความร่วมมือ มนร. การวิจัยและพัฒนาชีวเภสัชภัณฑ์จากสมุนไพรในสวนฯ”

พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมมือ ด้านการวิจัยและพัฒนาชีวเภสัชภัณฑ์จากสมุนไพร ระหว่าง สวนสมุนไพรสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ในวันพุธที่ 7 กันยายน 2565 ณ ห้องประชุมสายน้ำผึ้ง อาคารเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา สวนสมุนไพรสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยได้รับเกียรติจาก นายสรไนย เลิศอักษร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่แยกก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุเมศ ศรีชู รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ลงนามความร่วมมือกัน โดยมี ดร.วิสุททธิ์ หนูงาม ผู้จัดการฝ่ายบริหารจัดการโรงแยกก๊าซและกิจการเพื่อชุมชน และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จงรัก พลาศัย นายกสภามหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ร่วมลงนามเป็นสักขีพยาน เพื่อร่วมวิจัยและพัฒนาชีวเภสัชภัณฑ์จากสมุนไพรในสวนสมุนไพรสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์


นายสรไนย เลิศอักษร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่แยกก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวว่า องค์ความรู้ด้านพืชสมุนไพร เป็นภูมิปัญญาของบรรพชนไทย ที่สืบสานสั่งสมกันมาแต่อดีตอันยาวนาน และตกทอดเป็นมรดกมาจนถึงปัจจุบัน ปตท. มีความพร้อมในการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการคิดค้น สร้างสรรค์นวัตกรรม จากองค์ความรู้การแพทย์แผนไทย นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย มาพัฒนาต่อยอดร่วมกับการสกัดสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่สำคัญ ตลอดจนการควบคุมมาตรฐานตามหลักสากล จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย สอดรับกับกระแสการใช้สมุนไพรและองค์ความรู้ทางการแพทย์แผนโบราณ ซึ่งกำลังได้รับความสนใจในตลาดโลกเป็นอย่างมาก และมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความร่วมมือในครั้งนี้ จะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพรเชิงตำรับที่ทันสมัย จากการวิจัยพืชสมุนไพรภายในสวน ฯ ตลอดจนเผยแพร่องค์ความรู้ที่ได้ออกสู่ชุมชนและสังคม สร้างงาน สร้างรายได้ สร้างอาชีพ พร้อมทั้งยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนได้อย่างยั่งยืน


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุเมศ ศรีชู รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ได้กล่าวว่า มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ได้เล็งเห็นถึงคุณค่าของสมุนไพรไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมุนไพรในสวนสมุนไพรสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ได้บ่มเพาะความหลากหลายทางชีวภาพออกสู่สายพันธุ์ต่างๆ กว่า 400 ชนิด ภายในสวน ทรงคุณค่าอันมหาศาลที่จะนำมาวิจัยและพัฒนาชีวเภสัชภัณฑ์จากสมุนไพรเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ โดยมหาวิทยาลัยเองได้มีนักวิชาการ นักวิจัย และนักวิทยาศาสตร์ สหสาขา พร้อมบูรณาการศาสตร์แขนงต่าง ๆ ร่วมกับ ปตท. และภาคีเครือข่าย ให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากการใช้ทรัพยากรภายในสวนสมุนไพร ฯ อีกทั้งยังมีความพร้อมในการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านชีววิทยาศาสตร์ ในการจัดทำคลังข้อมูลสมุนไพร และร่วมสร้างสวนสมุนไพรให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนและสังคม รองรับการอนุรักษ์สมุนไพรไทยอย่างยั่งยืน

 

Related posts