ศอ.บต.เตรียมปรับฐานข้อมูลนักศึกษาและศิษย์เก่าต่างประเทศ เน้นทันสมัย เข้าถึงง่าย สามารถวิเคราะห์สภาพปัญหาให้สอดคล้องความต้องการของ นศ. ได้

ศอ.บต.เตรียมปรับฐานข้อมูลนักศึกษาและศิษย์เก่าต่างประเทศ เน้นทันสมัย เข้าถึงง่าย สามารถวิเคราะห์สภาพปัญหาให้สอดคล้องความต้องการของ นศ. ได้

เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 นางสุนิสา รามแก้ว ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธานประชุมหารือร่วมกับศิษย์เก่าต่างประเทศและนักเรียนนักศึกษาที่ศึกษาอยู่ในต่างประเทศ เพื่อดำเนินการพัฒนาฐานข้อมูลนักเรียนนักศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ศึกษาในต่างประเทศ โดยมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนศิษย์เก่าต่างประเทศ เข้าร่วม ณ ห้องประชุมเจริญจิตต์ณ สงขลา ศอ.บต.

สำหรับในปี พ.ศ. 2564 – 2565 ศอ.บต. ได้ดำเนินการจัดทำแบบสำรวจข้อมูลนักเรียนนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ศึกษาในต่างประเทศ ในห้วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด 19) เพื่อให้การช่วยเหลือความช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ศึกษาในต่างประเทศที่ประสงค์กลับมาศึกษา ต่อในสถาบันการศึกษาในประเทศไทย (กรณีเทียบโอนรายวิชา) การอำนวยความสะดวกและจัดสรรสถานที่กักกันโรคทางเลือก (Alternative Quarantine: AQ) การจัดเตรียมกิจกรรมสำหรับการเตรียมการมีอาชีพภายหลังสำเร็จการศึกษาของกลุ่มเยาวชนดังกล่าว ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2566 ศอ.บต. จะมีการดำเนินการพัฒนาฐานข้อมูลนักเรียนและนักศึกษาที่มีอยู่ให้มีความทันสมัย เข้าถึงง่ายและสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์สภาพปัญหาและความต้องการของนักเรียน นักศึกษา และศิษย์เก่าจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ศึกษาในต่างประเทศ เพื่อประโยชน์แก่กลุ่มเยาวชนดังกล่าวให้มากที่สุดและสามารถให้การช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที

นางสุนิสา รามแก้ว ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ศอ.บต. ในฐานะหน่วยงานพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชน ได้มีการติดตามและดูแลศิษย์เก่าในต่างประเทศอย่างต่อเนื่องบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทาง แก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ร่วมกันซึ่งที่ผ่านมาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีปัญหาเกิดขึ้นหลายปัจจัยส่วนใหญ่เกิดจากความ ไม่เข้าใจกันดังนั้นทุกภาคส่วนจะต้องร่วมด้วยช่วยกัน ศอ.บต.จะทำหน้าที่เป็นหน่วยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ ทั้งนี้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องอาศัยเครือข่ายของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนนักศึกษาและศิษย์เก่าต่างประเทศที่จะเข้ามาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานให้เกิดประโยชน์ เน้นสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ด้านผู้แทนศิษย์เก่าต่างประเทศได้มีข้อเสนอให้ภาครัฐนำโดยศอ.บต. ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลและพัฒนาคุณภาพชีวิตของ พี่น้องประชาชนในพื้นที่โดยให้ ศอ.บต. ลดจำนวนกลุ่มเป้าหมายในการเข้าร่วมกิจกรรมให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และอธิบาย ถึงวัตถุประสงค์ เป้าหมายที่ได้รับ จุดเด่น จุดอ่อน จุดแข็งของผู้เข้าร่วมกิจกรรมฯ พร้อมนี้ ได้กล่าวอีกว่านักศึกษาที่จบจากประเทศมาเลเซีย ส่วนใหญ่แล้วมีความสามารถ และมีทักษะด้านภาษาอังกฤษ ระดับมากถึงมากที่สุด ซึ่งทักษะเหล่านี้จะนำพา ให้นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศสามารถช่วยเหลือตนเองได้ โดยไม่ต้องพึงพาภาครัฐ อีกทั้งเสนอให้ ศอ.บต. จัดประชุมสัมมนา (workshop) เพื่อให้นักเรียน นักศึกษาระดมความคิดเห็นในการจัดกิจกรรม เช่น ประสงค์ให้กิจกรรม ในรูปแบบใด และมีจุดเน้นเฉพาะเจาะจงในครั้งต่อไปอย่างไร โดย ศอ.บต.จะมีการจัดประชุมหารือร่วมกับสำนักงานจัดหางานจังหวัดชายแดนภาคใต้ 5 จังหวัดภาคใต้ เพื่อขยายผลและศึกษาแนวทางการให้ช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาในด้านต่าง ๆ เพื่อมีส่งเสริมการมีอาชีพภายหลังสำเร็จการศึกษา และยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้นแก่กลุ่มนักศึกษาและศิษย์เก่าต่างประเทศต่อไป

 

Related posts