“พิพัฒน์” ปล่อยแถวชุดปฏิบัติการฯ “เจอ จับ ปรับ ผลักดัน” พร้อมกันทั่วประเทศ ตั้งเป้ากวาดล้างแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย บูรณาการร่วม สตม. บช.ทท. ปคม. กอ.รมน.

“พิพัฒน์” ปล่อยแถวชุดปฏิบัติการฯ “เจอ จับ ปรับ ผลักดัน” พร้อมกันทั่วประเทศ ตั้งเป้ากวาดล้างแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย บูรณาการร่วม สตม. บช.ทท. ปคม. กอ.รมน.

 

วันที่ 5 มิถุนายน 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีมอบนโยบายและปล่อยแถวเจ้าหน้าที่ด้านการตรวจสอบการทำงานของแรงงานข้ามชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ณ บริเวณองค์พระพุทธรูป อาคารกระทรวงแรงงาน โดยมีนายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวรายงาน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน และผู้แทนจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในกรุงเทพมหานคร ร่วมเป็นเกียรติในพิธี

 

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ปัจจุบันการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยจำเป็นต้องพึ่งพาภาคแรงงาน รักษาความสมดุลระหว่างการจ้างงานคนสัญชาติไทยให้มีงานทำ และบริหารจัดการการทำงานของแรงงานข้ามชาติ ให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการ สามารถขับเคลื่อนกิจการทั้งภาคการผลิต ภาคการเกษตร และภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ การมอบนโยบายในวันนี้จึงมีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นการมอบนโยบายแก่เจ้าหน้าที่ด้านการตรวจสอบการทำงานของแรงงานข้ามชาติ เพื่อใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติงานด้านการตรวจสอบ จับกุม และดำเนินคดีนายจ้าง/สถานประกอบการ และคนต่างชาติ ที่กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว การปราบปรามการลักลอบเข้าประเทศตามช่องทางธรรมชาติ และทำงานโดยผิดกฎหมาย รวมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้นายจ้าง/สถานประกอบการ และคนต่างชาติ เร่งรัดดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566

 

ซึ่งการบรรลุวัตถุประสงค์ได้นั้น ต้องบูรณาการร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่ เพื่อตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ในการนี้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมพิธี ประกอบด้วย กรมการจัดหางาน โดยเจ้าหน้าที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน เจ้าหน้าที่จากสำนักงานจัดหางานจังหวัดปริมณฑล และเจ้าหน้าที่สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 จำนวน 85 นาย สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน กรุงเทพมหานคร จำนวน 45 นาย รวมทั้งสิ้น 130 นาย นอกจากนี้เจ้าหน้าที่กรมการจัดหางานที่ประจำอยู่ ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด จะเข้าร่วมพิธีเพื่อรับมอบนโนยายพร้อมกันทั่วประเทศ ผ่านทางการถ่ายทอดสด Facebook Live กรมการจัดหางานด้วย โดยทันทีที่การรับมอบนโยบายเสร็จสิ้น กำลังพลจะออกปฏิบัติการตรวจสอบการทำงานของแรงงานข้ามชาติ และนายจ้าง/สถานประกอบการโดยพร้อมเพรียงกัน

“ขอให้เจ้าหน้าที่ทุกคนปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ สุจริต ยุติธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ คำนึงถึงผลประโยชน์โดยรวมของประเทศชาติเป็นหลัก และขอให้ได้รับความปลอดภัยในการปฏิบัติภารกิจทุกครั้ง ในนามของกระทรวงแรงงาน ขอขอบคุณสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ ที่ได้ให้ความร่วมมือส่งเจ้าหน้าที่มาร่วมปฏิบัติงานกับพนักงานเจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงานในครั้งนี้” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

 

ด้านนายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม “คนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากสิทธิที่ทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และถูกส่งกลับประเทศต้นทาง รวมทั้งไม่สามารถขอรับใบอนุญาตทำงานได้จนกว่าจะพ้นโทษมาแล้วเป็นระยะเวลา 2 ปี และนายจ้าง/สถานประกอบการที่รับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี” ในส่วนคนต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2567

ซึ่งนายจ้างได้ดำเนินการยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนในช่วงที่ผ่านมา (สิ้นสุดการดำเนินการวันที่ 15 มกราคม 2567) และได้รับอนุญาตทำงาน มีจำนวน 813,869 คน แบ่งเป็นสัญชาติเมียนมา 676,515 คน กัมพูชา 103,442 คน ลาว 31,170 คน และเวียดนาม 2,742 คน จะต้องไปดำเนินการจัดเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล จัดทำหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางและตรวจลงตราหรือตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว จัดทำหรือปรับปรุงทะเบียนประวัติและทำบัตรประจำตัวคนต่างด้าว (บัตรชมพู) ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2567 หากไม่ดำเนินการหรือดำเนินการไม่ครบถ้วนจะส่งผลให้การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเพื่อการทำงานเป็นอันสิ้นสุด ทั้งนี้สำนักบริหารแรงงานต่างด้าวให้ข้อมูลว่า

แรงงานสัญชาติเมียนมา ได้ไปดำเนินการจัดทำเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity: CI) (เอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง) ณ ศูนย์บริหารจัดการการทำงานของแรงงานเมียนมาแบบเบ็ดเสร็จ จำนวน 369,156 คน หรือร้อยละ 54.57 ของแรงงานสัญชาติเมียนมาที่ได้รับอนุญาตทำงานตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว จึงขอฝากถึงนายจ้าง สถานประกอบการอย่านิ่งนอนใจ พาแรงงานของท่านไปดำเนินการตามกระบวนการที่กำหนดให้ครบถ้วนภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2567 หากไม่ดำเนินการหรือดำเนินการไม่ครบถ้วนจะทำให้แรงงานกลุ่มดังกล่าวเป็นแรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งเจ้าหน้าที่ด้านการตรวจสอบการทำงานของแรงงานข้ามชาติจำเป็นต้องดำเนินคดีโดยไม่มีข้อยกเว้น

 

Related posts