หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยังฝังใจต่อญาติพี่น้องของหะยีสุหลงผู้เสียชีวิต

หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยังฝังใจต่อญาติพี่น้องของหะยีสุหลงผู้เสียชีวิต อันเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง เป็นผู้นำศาสนา แม้วันเวลาผ่านมากว่า 70 ปี หลายคนยังจำกันได้ และเป็นส่วนหนึ่งต่อการเชื่อมโยงเหตุการณ์ภาคใต้ในปัจจุบัน

 

วันนี้ อดีต เมื่อ 72 ปีที่แล้ว ตรงกับวันที่ 7 มิถุนายน 2493 ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีหะยีสุหลง ให้จำคุก #หะยีสุหลงอับดุล กาเดร์ 4 ปี 8 เดือน ส่วนจำเลยอื่นยืนตามศาลชั้นต้น

เป็นเวลา 72 ปี กับการหายสาบสูญ ของหะยีสุหลง ผู้นำศาสนาอิสลามคนสำคัญในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ล่าสุดลูกหลานของตระกูลโตะมีนา มีความพยายามที่จะสื่อสารถึงเรื่องราวของบรรพบุรุษและประวัติศาสตร์ปัตตานี ผ่านการเปิดบ้านให้คนทั่วไปได้เข้าไปศึกษาเรียนรู้

#หะยีสุหลงอับดุลกาเดร์ ต้นตระกูล #โตะมีนา หนึ่งในผู้นำศาสนาอิสลามและมีบทบาทสำคัญทางการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การหายสาบสูญอย่างไร่ร่องรอยของเขา เป็นปีที่ 72 แล้ว หลังจากพยายามรักษาวิถีชีวิตและอัตลักษณ์มลายูในยุคของการสร้างรัฐชาติ

หะยีสุหลง เกิดเมื่อปี 2438 ที่หมู่บ้านกำปงอาเนาะรู (หมู่บ้านลูกสน) มณฑลปัตตานี เมื่อเติบโตขึ้นมา บิดาได้ส่งไปเรียนศาสนาที่นครเมกกะประเทศซาอุดิอาระเบีย จนแตกฉานทั้งในเรื่องศาสนา ปรัชญา และภาษาทางมุสลิม

หะยีสุหลงได้สมรสกับภริยาคนแรก โดยที่ไม่มีบุตรด้วยกัน ต่อมาภริยาได้เสียชีวิตลง หะยีสุหลงจึงสมรสใหม่กับนางเวห์ เตร์ยอห์ ภริยาคนที่สอง ทั้งคู่มีบุตรชายด้วยกันหนึ่งคน แต่ต่อมาบุตรชายก็เสียชีวิตลงเมื่ออายุได้ขวบเศษ ๆ เท่านั้น ทั้งคู่จึงตัดสินใจเดินทางกลับมายังประเทศไทย

หะยีสุหลง ตั้งใจจะกลับมาเผยแพร่ศาสนาที่มณฑลปัตตานี อันเป็นบ้านเกิด ได้เดินทางกลับมาเมื่อปี 2470 ก่อนจะพบว่าชาวมุสลิมที่ยังมีสภาพความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นและนับถือภูติผีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งขัดกับหลักทางศาสนาอิสลามอย่างรุนแรง จึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้ก่อตั้งโรงเรียนสอนศาสนาหรือ”#ปอเนาะ”ขึ้นมาเป็นแห่งแรกด้วยเงินเริ่มต้นที่รวบรวมหามาได้ 3,500 บาท

ต่อมาเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปี 2475 ในรัฐบาลที่มี #พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี หะยีสุหลงได้เดินทางเข้าสู่พระนครเพื่อขอความช่วยเหลือจากทางรัฐบาล ก็ได้เงินช่วยเหลือจากภาครัฐมาอีก 3,500 บาท รวมเป็น 7,000 บาท ปอเนาะแห่งแรกในประเทศไทยจึงถือกำเนิดขึ้นมาได้

หะยีสุหลง ได้เกี่ยวพันกับทางการเมืองและความขัดแย้งในพื้นที่ซึ่งมีผลกระทบต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร เมื่อเป็นผู้นำเสนอข้อเรียกร้อง 7 ข้อ ที่ให้ความเป็นธรรมและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวมุสลิมในพื้นที่ ต่อรัฐบาลไทยที่มี พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี เมื่อปี 2490

แต่ต่อมาได้เกิดการรัฐประหารขึ้นเมื่อปลายปีเดียวกัน ได้มีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลมาเป็นขั้วของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งมีอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างจากขั้วอำนาจเดิม ข้อเรียกร้องทั้ง 7 ข้อ ของหะยีสุหลงถูกเพ็งเล็งว่าเป็นกบฏกระด้างกระเดื่องต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร

จนในที่สุดถูกจำคุกในข้อหาปลุกระดมและก่อการกบฏเพื่อแบ่งแยกดินแดน ซึ่งหะยีสุหลงถูกตัดสินให้จำคุกเป็นเวลา 4 ปี 8 เดือน โทษฐานกล่าวร้ายรัฐบาลในเอกสารที่แจกจ่ายยังประชาชนในท้องถิ่น ส่วนโทษฐานแบ่งแยกดินแดน ศาลพิจารณาให้ยกฟ้อง

เมื่อพ้นโทษออกมา หะยีสุหลงก็ยังถูกคุกคามจากทางอำนาจรัฐ จนกระทั่งในเช้าตรู่ของวันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม 2498 หลังจากเสร็จจากละหมาดในตอนเช้าแล้ว หะยีสุหลง พร้อมกับ นายอาหมัด โต๊ะมีนา บุตรชายคนโตวัย 15 ปี ซึ่งทำหน้าที่เป็นล่ามภาษาไทย

เนื่องจากหะยีสุหลงไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ ได้เดินทางออกจากบ้านพักส่วนตัวที่จังหวัดปัตตานี ไปยังกองบัญชาการตำรวจสันติบาลที่จังหวัดสงขลา พร้อมด้วยพรรคพวกอีก 2 คน รวมเป็น 4 คน ก่อนที่ทั้งหมดจะหายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย

เหตุการณ์ดังกล่าว นำมาซึ่งความเชื่อว่าทั้งหมดถูกฆาตกรรมทางการเมืองด้วยฝีมือของตำรวจ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ภายใต้การบัญชาการของ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้ซึ่งเป็นเสมือนมือขวาสำคัญของจอมพล ป. นายกรัฐมนตรี

แม้ความมืดดำของการหายสาบสูญจะยังคงดำรงอยู่มาจนบัดนี้ แต่สำหรับฝ่ายผู้สูญเสียนั้น ต่างปักใจเชื่อว่าหะยีสุหลง และคนอื่นๆ ถูกตำรวจจับถ่วงน้ำทะเลสาบสงขลา บริเวณหลังเกาะหนู ในเขตจังหวัดสงขลา และนับแต่นั้นก็ไม่ปรากฏความเคลื่อนไหวในระดับเดียวกับที่มีอีกเลย

จนเมื่อปี 2500 อันเป็นปีที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ หะยีอามีน โต๊ะมีนา ลูกชายของหะยีสุหลงคนถัดจากอาห์มัด โต๊ะมีนา เป็นหนึ่งในผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎร

ในช่วงการรณรงค์หาเสียง ประเด็นจึงหนีไม่พ้นเรื่องของศาสนาและการเมือง ซึ่งประจวบเหมาะกับการที่มาเลเซียได้รับเอกรารจากอังกฤษในปีเดียวกันนั้น ความตื่นตัวของชาวมุสลิมใน 4 จังหวัดภาคใต้เรื่องสิทธิและเสรีภาพแห่งตนจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง

เดือนเมษายน 2501 หะยีอามีน โต๊ะมีนา จัดพิมพ์หนังสือ “GUGUSAN CHAHAYA KESELAMA TAN” หรือ“#รวมแสงแห่งสันติ” ผลงานเขียนของหะยีสุหลงขณะยังรับโทษอยู่ในเรือนจำ ออกเผยแพร่จำนวน 10,000 เล่ม

เนื้อหาในหนังสือนี้ยังมีความเห็นขัดแย้งระหว่างเอกสารทางราชการที่ว่า หนังสือนี้ได้เน้นความจำในการต่อสู้เพื่อเอกราชตลอดจนความร่วมมือกันในหมู่ชาวมลายู กับคำให้สัมภาษณ์ของ เด่น โต๊ะมีนา น้องชายแท้ ๆ ของหะยีอามีน โต๊ะมีนาที่เห็นว่าเป็นหนังสือขอพรพระผู้เป็นเจ้า หากทำตามหนังสือนี้แล้วก็จะปลอดภัยหรือได้รับสันติ

หะยีอามีน โต๊ะมีนา ได้เขียนคำนำให้กับหนังสือ “#รวมแสงแห่งสันติ” ด้วยตัวเอง พร้อมบรรยายใต้ภาพของหะยีสุหลงในหนังสือว่า…..“หะยีสุหลงถูกฆ่าตายโดยเจ้าหน้าที่ที่โหดร้ายของรัฐ ขอให้พี่น้องมุสลิมจดจำเป็นเยี่ยงอย่าง” ชะตากรรมมาเยือนบ้านเรือนทายาทหะยีสุหลงอีกครั้ง

หนังสือทั้งหมดถูกเผาพร้อมๆ กับหะยีอามีน โต๊ะมีนา ถูกจับในข้อหาแบ่งแยกดินแดน เอกสารของทางราชการระบุว่าหะยีอามีน โต๊ะมีนา ได้เผยแพร่และชักจูงให้ชาวมุสลิมรื้อฟื้นความคิดของหะยีสุหลง และรำลึกถึงความเป็นมาของประวัติศาสตร์ ดินแดน เชื้อชาติ ศาสนา และขนบธรรมเนียมประเพณี อย่างเปิดเผย และยังได้รับช่วงการดำเนินงานก่อตั้งรัฐปัตตานีตามแผนการของ “ตวนกู ยะลา นาเซร์” อีกด้วย

ทางการจับกุมหะยีอามีน โต๊ะมีนา พร้อมด้วยผู้นำอื่นๆ ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม 2504 และฟ้องต่อศาลทหารกรุงเทพฯ ในข้อหาสมคบกับพวกกระทำการเป็นขบถเพื่อแบ่งแยกราชอาณาจักร, กระทำการโฆษณาโดยทางวาจาและหนังสือให้ประชาชนกระด้างกระเดื่องเพื่อก่อการขบถ

แต่เมื่อพิจารณาคดีมาถึงปี 2508 ก่อนถึงวันนัดฟังคำพิพากษาเพียงวันเดียว คณะรัฐมนตรีก็มีมติให้ถอนฟ้องหะยีอามีน โต๊ะมีนา โดยอ้างว่าเพื่อผลทางการเมืองบางประการ หะยีอามีน โต๊ะมีนา ได้รับการปล่อยตัวจากที่คุมขังระหว่างการพิจารณาของศาล และได้เดินทางกลับปัตตานี

แม้เขาจะลดบทบาทตัวเองลงอย่างมากมายหลังการปล่อยตัว แต่ในสายตาของทางการและผู้รับผิดชอบในเขต 4 จังหวัดภาคใต้แล้ว หะยีอามีน โต๊ะมีนา ยังคงเป็นผู้นำคนหนึ่งที่จะต้องจับตามองและบรรจุรายชื่อเข้าใน “บัญชีดำ” ชนิดถาวร

ปี 2523 ปัญหา 4 จังหวัดภาคใต้แปรเปลี่ยนไปมาก การเคลื่อนไหวทางการเมืองจากที่เคยยึดที่ตัวบุคคลซึ่งเป็นผู้นำเป็นแกนนำและผู้ชูธง กลับเป็นการเคลื่อนไหวที่เป็นรูปของขบวนการ มีการดำเนินงานที่มีระบบและลึกซึ้งขึ้น

มีการสร้างกระแสกดดันฝ่ายรัฐบาลด้วยวิธีการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ ก่อกวน เรียกค่าคุ้มครอง ข่มขู่ประชาชนและข้าราชการ แน่นอนว่าหะยีอามีน โต๊ะมีนา ผู้เคยมีบทบาทอย่างมากในอดีตจะถูกเพ่งเล่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อความสับสนมีมากขึ้น จึงเกิดกระแสข่าวว่าจะมีการเก็บบรรดาผู้นำจำนวน 5 คน คือ หะยีอามีน โต๊ะมีนา, โต๊ะครูพ่อมิ่ง หรือหะยีอับดุลเราะห์มาน,โต๊ะครูนาประดู่ หรือหะยีมูฮำหมัด และคนอื่นอีก 2 คน

นายเด่น โต๊ะมีนา ในขณะนั้นเป็นเลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม นายชวน หลีกภัย ในรัฐบาล พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ จึงพยายามตรวจสอบข่าว เมื่อเห็นเป็นเรื่องจริง จึงขอร้องชวน หลีกภัยให้พาตนเข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อชี้แจงปัญหาและแนวทางแก้ไข เพราะเห็นว่าเรื่องละเอียดอ่อนอย่างนี้ควรจะพูดคุยเป็นการเฉพาะตัวมากกว่าการพูดในที่ประชุมที่ประกอบด้วยผู้ที่รู้พื้นฐานของปัญหาต่างกัน

แต่แล้ว เด่น โต๊ะมีนา ก็ต้องงผิดหวัง เขาได้เปิดเผยกับ “ผู้จัดการรายสัปดาห์” ในครั้งนั้นว่า ชวน หลีกภัย เป็นคนไม่รับผิดชอบในการแก้ปัญหา และนั่นเป็นสาเหตุให้นายเด่น โต๊ะมีนา ตีจากพรรคประชาธิปัตย์ในที่สุด ภายหลังที่มีการประชุมของผู้นำมุสลิมที่เฝ้ารอฟังผลการเจรจา เขาบอกกับผู้นำมุสลิมในที่ประชุมว่า“ตัวใครตัวมัน” นับแต่นั้น บรรดาผู้นำมุสลิมก็ทยอยกันหลบหนีออกนอกประเทศ

หะยีอามีน โต๊ะมีนา เดินทางไปอยู่กับผู้เป็นตาและญาติพี่น้องที่รัฐกลันตัน ในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง ประกอบอาชีพเบื้องต้นด้วยการแปรรูปไม้จำหน่าย

(14 ส.ค.58) “รำลึก 61 ปีหะยีสุหลง” นางสาวนวลน้อย ธรรมเสถียร ผู้สื่อข่าวBBC ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “รัฐไทยต้องปรับวิธีคิดใหม่ ด้วยการทำงานกับผู้นำแบบนี้ให้มากยิ่งขึ้น และให้ผู้นำมีพื้นที่ทางการเมืองมากยิ่งขึ้น แต่ไม่ประสบชะตากรรมเหมือนกับหะยีสุหลง เพื่อที่จะให้ผู้นำเหล่านี้สามารถพูดแทนประชาชนในพื้นที่ได้ เพราะหากรัฐยังไม่เปิดพื้นที่แก่ผู้นำในพื้นที่ จะทำให้ปัญหาในพื้นที่อยู่อย่างนี้ต่อไป”

นางสาวนวลน้อย กล่าวอีกว่า การพูดคุยสันติภาพ แปลว่า เราอยากหาทางออกความด้วยวิธีทางการเมือง นี่ก็คือสิ่งที่หะยีสุหลงทำ ใช้วิธีการเมือง ไม่ได้ใช้กำลังแต่เป็นการต่อรองกับรัฐไทย คือ วิธีการเมือง ดังนั้นเราต้องหยิบสิ่งที่เกิดขึ้นศึกษาใหม่เพื่อไม่ให้ทับรอยปัญหาเดิมที่เคยเกิดขึ้น นี่คือสิ่งเราต้องทำต่อไป

#เกษมลิมะพันธุ์ #KasemLimaphan #สมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย

Related posts