กฟผ. เผยแบกรับภาระค่าเชื้อเพลิงใกล้ทะลุ 1 แสนล้านบาท วอนรัฐช่วยดูแล พร้อมแจงกำไรสะสมไม่ใช่เงินสดไม่สามารถนำมาช่วยพยุงค่าไฟฟ้าได้
กฟผ. เผยตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ร่วมแบกรับภาระค่าเชื้อเพลิงแล้วเกือบ 1 แสนล้านบาท แม้กู้เงินนับหมื่นล้านมาเสริมสภาพคล่องแล้วแต่ยังไม่เพียงพอต่อการดำเนินงาน จำเป็นต้องขอกู้เงินเพิ่ม วอนรัฐช่วยดูแล เพื่อมิให้กระทบความมั่นคงทางพลังงานในระยะยาว ส่วนกำไรสะสมเป็นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการดำเนินงานในรูปของสินทรัพย์เพื่อผลิตและส่งไฟฟ้ามิใช่เงินสดจึงไม่สามารถนำมาช่วยพยุงค่าไฟฟ้าได้
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. ห่วงใยต่อความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาวิกฤตราคาพลังงานที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมรับภาระค่าไฟฟ้ากับประชาชนตามแนวทางบริหารค่าไฟฟ้าตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่งวดเดือนกันยายน 2564 จนถึงปัจจุบันรวมแล้วเกือบ 1 แสนล้านบาท แม้ กฟผ. จะพยายามแก้ปัญหาเบื้องต้นด้วยการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องแล้วจำนวน 25,000 ล้านบาท แต่ยังไม่เพียงพอต่อการแบกรับภาระค่าเชื้อเพลิงที่เกินกำลัง เนื่องจากราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลกยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กฟผ. จึงมีความจำเป็นต้องแจ้งต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ถึงต้นทุนเชื้อเพลิงที่เกิดขึ้นจริง วอนรัฐช่วยดูแลเพื่อไม่ให้กระทบต่อความความมั่นคงทางพลังงานในระยะยาว
ทั้งนี้ กฟผ. เป็นรัฐวิสาหกิจที่มิได้มุ่งแสวงหากำไร โดยราคาค่าไฟฟ้าและกำไรของ กฟผ. ถูกกำกับโดย กกพ. ให้มีรายได้เพียงพอต่อการลงทุนและบริหารกิจการเท่านั้น ซึ่งกำไรของ กฟผ. จะถูกนำส่งกระทรวงการคลังเป็นเงินรายได้แผ่นดินเพื่อนำไปใช้พัฒนาประเทศด้านอื่น ๆ รวมถึงลงทุนในระบบไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและส่งไฟฟ้าของประเทศให้มีความมั่นคงทางพลังงานเพื่อลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาล ส่วนกำไรสะสมของ กฟผ. จำนวน 3.29 แสนล้านบาท ที่ปรากฎในงบแสดงฐานะทางการเงินนั้นไม่ใช่เงินสด แต่เป็นการแสดงตัวเลขสะสมของมูลค่าสินทรัพย์ที่ กฟผ. นำกำไรส่วนที่เหลือจากการนำส่งกระทรวงการคลังในแต่ละปีไปลงทุนในรูปของสินทรัพย์ที่ใช้ผลิตและส่งไฟฟ้าให้แก่ประชาชน อาทิ โรงไฟฟ้า สถานีส่งไฟฟ้า สายส่งไฟฟ้า ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปีนับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกิจการ จึงไม่สามารถนำกำไรสะสมดังกล่าวมาจ่ายชดเชยค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นได้
กฟผ. ยังคงติดตามสถานการณ์ราคาพลังงานอย่างใกล้ชิด และร่วมกับภาครัฐบริหารจัดการเชื้อเพลิงเพื่อลดภาระค่าเชื้อเพลิงและต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า เช่น ปรับแผนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าโดยใช้เชื้อเพลิงที่มีต้นทุนถูกก่อน เลื่อนการปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่ใช้ถ่านหินในประเทศซึ่งเป็นเชื้อเพลิงราคาถูกในการผลิตไฟฟ้า ควบคู่กับการดำเนินมาตรการประหยัดพลังงานอย่างเข้มข้นทั้งในสำนักงาน เขต เขื่อน และโรงไฟฟ้า กฟผ. ทั่วประเทศ สู่เป้าหมายลดใช้พลังงานลงร้อยละ 20 เพื่อช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงราคาสูงจากต่างประเทศ โดยประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการช่วยประเทศให้ก้าวข้ามวิกฤตครั้งนี้ด้วยการประหยัดพลังงาน
————————————————————-