ศรีสะเกษ รอง ผวจ.เตือนระวังน้ำท่วมฉับพลันระบุ ปริมาณน้ำท้ายเขื่อนราษีไศลเพิ่มสูงขึ้น พร้อมแจ้งเตือนประชาชนให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่เขื่อนราษีไศล อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ได้มอบหมายให้ นายสำรวย เกษกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ นำคณะลงพื้นที่ไปตรวจสอบสถานการณ์น้ำในพื้นที่อำเภอราษีไศล ซึ่งมีพื้นที่ได้รับผลกระทบถูกน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้างและปริมาณน้ำที่สะสมเอ่อล้นท่วมพื้นที่การเกษตรริมแม่น้ำมูล ตำบลหนองแค หมู่ที่ 1 หมู่ที่ 10 และหมู่ที่ 12 ตำบลเมืองคง หมู่ที่ 15 และตำบลหนองอึ่ง หมู่ที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา โดยมีนายภานรินทร์ ภาณุพินทุ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่าง พร้อมด้วย นายวัจนปกรณ์ พงษ์พานิช ผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดศรีสะเกษ ร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้
นายสำรวย เกษกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ได้รับผลกระทบ เป็นพื้นที่ป่าบุ่งป่าทามเป็นพื้นที่รับน้ำและที่สาธารณประโยชน์ ไม่สามารถออกเอกสารสิทธิได้ แต่เนื่องจากชาวบ้านจะอาศัยพื้นที่ป่าบุ่งป่าทามดังกล่าวทำนาปรัง ซึ่งโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่าง ได้มีการแจ้งเตือนชาวบ้านไม่ให้ทำนาปีในพื้นที่ป่าบุ่งป่าทามช่วงฤดูน้ำท่วม ซึ่งในวันนี้ ตนได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์น้ำ ณ เขื่อนราษีไศลระดับน้ำหน้าเขื่อนที่ 118.83 ม.(รทก.) ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนที่ 118.27 ม.(รทก.) มีบานประตูระบายทั้งหมด 7 บาน เปิดทั้ง 7 บาน ซึ่ง 6 บาน ยกระดับที่ 3.50 เมตร อีก 1 บานยกแขวนประตู ระดับการแจ้งเตือน เป็นธงสีเหลือง เนื่องจากแนวโน้มปริมาณน้ำท้ายเขื่อนมีระดับเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสถานการณ์น้ำตอนนี้ก็ต้องดูพยากรณ์อากาศ ถ้ามีฝนตกต่อเนื่อง ปริมาณน้ำก็อาจเพิ่มขึ้นได้ แต่ว่าในระดับการปล่อย ขณะนี้ความต่างระหว่างด้านหลังเขื่อนและหน้าเขื่อนก็ต่างกันอยู่ แต่ก็ไม่มาก ถ้าดูภาพรวม ก็ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ
นายสำรวย เกษกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวต่อไปว่า ตนขอฝากถึงพี่น้องประชาชนในช่วงนี้ จากการพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา จะมีฝนตกต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 6 – 10 กันยายน 2565 ถ้าฝนตกต่อเนื่องก็คาดว่าปริมาณน้ำจะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งตนอยากให้ประชาชนติดตามข่าวสาร สถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยทางจังหวัดเองและหน่วยที่เกี่ยวข้องก็มีการประกาศแจ้งเตือน ถ้าปริมาณน้ำฝนมากขึ้น ก็จะมีการแจ้งเตือนการเฝ้าระวัง โดยเฉพาะทรัพย์สินสิ่งของ เพื่อไม่ให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน และการเข้าไปช่วยเหลือ ทางรัฐได้เตรียมการโดยการฝึกซ้อมแผนการปฏิบัติไว้ เมื่อเกิดเหตุขึ้นมาทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ทันที///////