ศอ.บต. สานสัมพันธ์เครือข่ายร้านอาหารไทย “ต้มยำกุ้ง” ในมาเลเซีย ย้ำ..สัมพันธ์คนไทยไม่ทิ้งกัน พร้อมรับเป็นแกนกลางแก้ไขปัญหาการทำมาหากิน สร้างต้นแบบครัวฮาลาลไทยสู่ครัวโลก

ศอ.บต. สานสัมพันธ์เครือข่ายร้านอาหารไทย “ต้มยำกุ้ง” ในมาเลเซีย ย้ำ..สัมพันธ์คนไทยไม่ทิ้งกัน พร้อมรับเป็นแกนกลางแก้ไขปัญหาการทำมาหากิน สร้างต้นแบบครัวฮาลาลไทยสู่ครัวโลก

ช่วงกลางดึกของคืนวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 ที่ ร้านอาหารสตางค์บาท กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้รับการมอบหมายจาก พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี/ประธานกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้(กพต.) ที่ในคราวการประชุม ครั้งที่ ๔/๒๕๖๕ เมื่อวันจันทร์ ที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๖๕ ณ จังหวัดนราธิวาส ได้มอบหมายให้ศอ.บต. เป็นหน่วยงานหลักเดินทางไปเยี่ยมเยือนพบปะพร้อมนำความห่วงใยไปให้คนไทยจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เดินทางไปประกอบธุรกิจร้านอาหารต้มยำกุ้งและแรงงานไทยภายในร้านอาหาร พนักงานให้บริการอาหารพ่อครัว-แม่ครัว งานธุรการและงานอื่น ๆ พร้อมร่วมกันวางแผน ประสานจัดทำข้อมูลการวิเคราะห์ความเป็นอยู่ของคนไทยในร้านอาหารต้มยำกุ้ง ตลอดจนปรึกษาหารือร่วมกันเพื่อจัดทำแนวทางการส่งเสริมอาชีพผ่านร้านอาหารต้มยำกุ้งในทุกรัฐของประเทศมาเลเซีย

นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ท่ามกลางสถานการณ์โควิด – ๑๙ ทั่วโลกระบาดอย่างรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา ทำให้การเดินทางของเจ้าหน้าที่รัฐหน่วยงานต่าง ๆ แม้กระทั้ง ศอ.บต. ในการเข้าไปดูแลช่วยเหลือแรงงานต้มยำกุ้งรัฐบาลไม่ได้ทอดทิ้งประชาชนแม้แต่น้อยมีการทำงานเพื่อสนับสนุนการดำเนินชีวิตและความเป็นอยู่ของคนไทยร้านต้มยำกุ้งในหลายมิติ เช่น การทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางประสานรวบรวมสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของร้านอาหารต้มยำกุ้งในประเทศมาเลเซีย ส่งผ่านถุงยังชีพผ่านกงสุลไทยเป็นจำนวนกว่า ๑๐,๐๐๐ ถุง ทั้งยังคอยอำนวยความสะดวกแก้ไขปัญหาข้อติดขัดในการเดินทางกลับประเทศไทยทั้งคนและรถยนต์ โดยร่วมกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีด่านศุลกากรอย่างใกล้ชิด มีการจัดตั้ง ศูนย์ประสานงานแก้ไขปัญหาเรื่องนี้โดยตรงและเมื่อแรงงานต้มยำกุ้งเดินทางกลับมายังประเทศไทย ยังได้ทำหน้าที่ประสานหน่วยงานเอกชนและสนับสนุนการสร้างงาน สร้างอาชีพ เพื่อให้แรงงานกลุ่มที่เดินทางกลับประเทศไทย มีงานทำ มีรายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้อีกกว่าหมื่นคน

ซึ่งจากการพบปะเครือข่ายแกนนำต้มยำกุ้งทุกสายอาชีพจาก ๑๒ รัฐ กว่า ๑,๐๐๐ คน ที่หมุนเวียนกันเข้ามาร่วมงานในครั้งนี้ ซึ่งศอ.บต. ต้องขอขอบคุณที่ทุกท่านยังไว้วางใจให้ ศอ.บต. เป็นหน่วยงานที่จะเดินหน้าช่วยเหลือและพัฒนาทุกท่านอย่างใกล้ชิด ซึ่งหลังจากนี้ศอ.บต.จะนำข้อมูลที่ได้รับการเสนอร่วมกันไปวางแผนร่วมกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการคลัง ก่อนจะหารือกับหน่วยงานของรัฐในประเทศมาเลเซียที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องและรัฐบาล ทั้ง ๒ ประเทศตามข้อสั่งการของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อผลักดันธุรกิจร้านอาหารต้มยำกุ้งให้เป็นธุรกิจที่สำคัญตั้งแต่กระบวนการต้นทาง กลางทางและปลายทาง ให้เป็นต้นแบบการทำงานเรื่องครัวไทย สู่ครัวโลกอย่างแท้จริง รวมทั้ง ต้องเดินหน้าสนับสนุนการพัฒนาทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตปกติของประชาชนที่เดินทางมาทำงานในร้านอาหารต้มยำกุ้งที่เป็นเส้นเลือดใหญ่สำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจะนำข้อมูลที่รวบรวมและวิเคราะห์อย่างครบถ้วนแล้ว เพื่อเสนอเข้ากพต. และ ครม. ในห้วงต้นปี ๒๕๖๖ นี้ โดยเร็ว

ขณะที่ด้านเครือข่ายแรงงานต้มยำกุ้งจากรัฐต่าง ๆ ได้นำเสนอข้อมูลจำเป็นเร่งด่วน ๖ เรื่อง เพื่อให้ ศอ.บต. นำไปใช้วางแผนการให้ความช่วยเหลือและเป็นแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนไทยจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เดินทางไปทำงานในร้านอาหารต้มยำกุ้ง ได้แก่ การแจ้งเกิด – แจ้งตายที่ปัจจุบันมีรายละเอียดและขั้นตอนการทำงานที่มีความยุ่งยากหลายขั้นตอน การอำนวยความสะดวกในการออกใบขับขี่ในประเทศมาเลเซีย การออก Passport ให้กับคนไทยที่เดินทางมาทำงาน การออกใบอนุญาตให้เข้ามาทำงานในประเทศมาเลเซีย (Work Permit) การส่งเสริมกิจกรรมการแข่งขันกีฬาของคนไทยที่เดินทางมาทำงานในต้มยำกุ้ง และการจัดหาครูผู้สอนและสื่อการเรียนการสอนภาษาไทยให้กับเด็กที่ครอบครัวพามาพำนักอาศัยหรือที่แม่คนไทยคลอดในประเทศมาเลเซียด้วย พร้อมกล่าวถึงความรู้สึกยินดีและดีใจที่มีตัวแทน ศอ.บต. และเป็นตัวแทนของรัฐบาล เข้ามาเยี่ยมเยือนและให้การสนับสนุนการพัฒนาทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมกิจการร้านอาหารไทยในประเทศมาเลเซีย พร้อมฝากคำขอบคุณไปยัง พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ยังไม่ลืมคนไทยที่อยู่ในประเทศมาเลเซียที่มีมากกว่าแสนคน และขอบคุณที่จะผลักดันร้านอาหารไทย ต้มยำกุ้ง ให้เป็นครัวอาหารฮาลาลสู่ครัวโลกต้นแบบ ซึ่งเป็นย่างก้าวของการพัฒนาที่สำคัญของจังหวัดชายแดนภาคใต้และการสร้างโอกาสชีวิตที่ดีที่สุดให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยเครือข่ายแรงงานต้มยำกุ้งพร้อมจะสนับสนุนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานของ ศอ.บต. และภาครัฐที่เกี่ยวข้องอย่างดีที่สุด

Related posts