เลขาธิการ ศอ.บต. หารือส่งเสริมกลุ่มผู้เลี้ยงโคเนื้อในพื้นที่ จชต. ต่อยอดการสร้างอาชีพให้มีความยั่งยืน

เลขาธิการ ศอ.บต. หารือส่งเสริมกลุ่มผู้เลี้ยงโคเนื้อในพื้นที่ จชต. ต่อยอดการสร้างอาชีพให้มีความยั่งยืน

 


วันนี้ (17 พฤศจิกายน 2565) ที่ ห้องประชุมน้อมเกล้า ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. นางสุนิสา รามแก้ว ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. กรมประชาสัมพันธ์ นางกนกรัตน์ เกื้อกิจ ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ พล.ต. ศราวุธ จันทร์พุ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาภาค 4 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา และคณะ ซึ่งนำเกษตรกรกลุ่มผู้เลี้ยงโคเนื้อ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าหารือเพื่อการสนับสนุนและให้การขับเคลื่อนงานของกลุ่มผู้เลี้ยงโคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ


สำหรับ กลุ่มผู้เลี้ยงโคเนื้อ ปัจจุบันมีการจัดตั้งเป็นสมาพันธ์วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงโคเนื้อจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อซื้อ-ขายโคมีชีวิต ในราคาประกัน ซื้อขายอาหารสัตว์ในราคาต้นทุน มีการแปรรูปเนื้อโคขุนด้วยการทำผลิตภัณฑ์ เป็นแบรนด์ สายบุรีบีฟ (SB Beef) ตลอดจนสร้างอาชีพการเลี้ยงโคของสมาชิกสมาพันธ์ให้มีความยั่งยืน อย่างไรก็ตามยังมีในส่วนของอาคารโรงเชือด ห้องบ่ม/ตัดแต่งชิ้นเนื้อ และระบบบำบัดน้ำเสีย ที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาให้มีความสมบูรณ์และครบวงจร จึงได้มาหารือกับทาง ศอ.บต. เพื่อหาแนวทางในการส่งเสริมสนับสนุนให้แล้วเสร็จเพื่อให้การขับเคลื่อนงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ


ด้านผู้แทนกลุ่มสมาพันธ์วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงโคเนื้อจังหวัดชายแดนภาคใต้กล่าวว่า ปัจจุบันทางกลุ่มได้มีการเชือดวัวอาทิตย์ละ 1 ตัว แบ่งเป็น ผลิตภัณฑ์ที่เป็นแพ็คเกจจิ้งส่งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และร้านอาหารปิ้งย่าง เฉลี่ยแล้ว 1 เดือนใช้วัวประมาณ 4 ตัว โดยต้องนำวัวจากสายบุรีไปเชือดที่พัทลุง ตั้งแต่การเชือด การบ่ม การจัดการทั้งหมด ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ8,000-10,000 บาท ซึ่งหากมีโรงเชือดเกิดขึ้นใน 3 จังหวัด ก็จะลดค่าใช้จ่ายไปได้เยอะ สำหรับวัว 1 ตัว จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ชิ้นเนื้อหลัก คือประเภทเนื้อสัตว์ทั้งหมดซึ่งสามารถนำไปทำเป็นสเต็กได้ โดยมีราคาค่อนข้างสูง ชิ้นเนื้อรองจะมีตั้งแต่ขาหน้า ซี่โครง สะโพก จะนำไปเป็นเนื้อสไลด์ ปิ้งย่าง ยากินิกุ และในส่วนของเนื้อย่อย สามารถนำไปทำเป็นเบอร์เกอร์หรือไส้กรอกเยอรมัน หลังจากได้ทดสอบตลาดแล้ว เป็นที่ต้องการของลูกค้า โดยเก็บสถิติจากการกลับมากินซ้ำของลูกค้า การทำผลิตภัณฑ์แปรรูปนี้ออกมา จะสามารถยกระดับราคาชิ้นเนื้อให้สูงขึ้นจากท้องตลาดได้ และสมาชิกจะมีรายได้เพิ่มขึ้น ในอนาคตก็จะมีร้านอาหารเพิ่มขึ้น เมื่อร้านอาหารเพิ่มขึ้นสิ่งที่เพิ่มมาด้วยคืออัตราการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย


พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า กลุ่มเกษตรเหล่านี้เป็นกลไกสำคัญของคนในพื้นที่ ซึ่งมีสำนักงานพัฒนาภาค 4 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ในการเป็นพี่เลี้ยงที่ให้ข้อมูลทั้งการผสมเทียม การดูแลการเลี้ยงโคที่ถูกต้อง ซึ่งหลังจากนี้จะมีการมอบหมายแก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยกันหารือในการหาแนวทางส่งเสริมสมาพันธ์วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงโคเนื้อ เพื่อที่จะสร้างงาน สร้างอาชีพให้แก่พี่น้องประชาชนให้เร็วที่สุด ซึ่งคณะที่มาวันนี้ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญในการเลี้ยงโค เพียงแต่ยังไม่ถูกต่อยอดให้ถึงสุดทาง เพราะฉะนั้นอะไรที่คิดว่ามีต้นทุนอยู่แล้วที่สามารถผลักดันไปต่อได้ ทาง ศอ.บต. ยินดี และพร้อมให้การสนับสนุน ในสิ่งที่เป็นความต้องการจากประชาชนจริงๆ และเป็นสิ่งที่คนในพื้นที่ร่วมคิดร่วมทำ

Related posts