ผวจ.ศรีสะเกษ ห่วงสถานการณ์แล้งยาวนานจากผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญ วอนประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ภัยแล้ง ให้ทุกภาคส่วนพร้อมให้การช่วยเหลือประชาชน

ผวจ.ศรีสะเกษ ห่วงสถานการณ์แล้งยาวนานจากผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญ วอนประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ภัยแล้ง ให้ทุกภาคส่วนพร้อมให้การช่วยเหลือประชาชน

เมื่อวัน 13 กุมภาพันธ์ 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมศรีพฤทเธศวร ชั้น 5 จังหวัดศรีสะเกษ นายสำรวย เกษกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานการประชุมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดศรีสะเกษ ( การเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ประจำปี 2566 ) โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอทุกอำเภอ เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง เพื่อหาแนวทางและมาตรการในการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งในปีนี้

นายสำรวย เกษกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยว่า ในส่วนของการเตรียมการเรื่องภัยแล้งในปีนี้ เบื้องต้นทางจังหวัดได้มีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ เพื่อจัดโครงสร้างการทำงานของฝ่ายต่างๆ ให้เกิดความพร้อมและมีประสิทธิภาพที่สุด มีการจัดทำแผนเผชิญเหตุ และเตรียมความพร้อมสำหรับเครื่องมือให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุ มีการแบ่งพื้นที่รับผิดชอบเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนและสามารถให้การช่วยเหลือประชาชนได้อย่างรวดเร็ว

ด้านการเตรียมการระดับจังหวัด ตนได้สั่งการในเบื้องต้นให้อำเภอทุกอำเภอดำเนินการสำรวจข้อมูลภัยแล้ง หรือพื้นที่ที่เกิดภัยแล้งซ้ำซาก เพื่อนำมาเป็นฐานช้อมูลที่ใช้ในการเฝ้าระวัง จัดอันดับพื้นที่เสี่ยงภัย วางมาตรการในการช่วยเหลือ ทั้งนี้ จาการตรวจสอบปริมาณน้ำฝน และปริมาณน้ำเก็บกักของอ่างเก็บน้ำจำนวน 16 อ่าง ในเขตพื้นที่ชลประทานยังมีปริมาณน้ำที่เพียงพอ ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทานยังมีความน่าเป็นห่วง คือพื้นที่อำเภอเมืองจันทร์ และอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ

ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้มีการแก้ปัญหาโดยได้มีโครงการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ จากการคาดการณ์สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องของระบบประปา ซึ่งระบบสูบน้ำจากแหล่งน้ำเพื่อมาผลิตน้ำประปาอาจจะมีปัญหา เนื่องจากปริมาณน้ำในฝายไม่เพียงพอเนื่องจากฝายชำรุด แต่ถึงอย่างไรหากปีนี้มีปริมาณน้ำฝนเพียงพอก็ไม่น่าเป็นห่วง แต่ถ้าหากมีปริมาณน้ำฝนน้อย ก็ได้มีการสำรวจแหล่งน้ำดิบสำรองเพื่อแก้ปัญหาในเบื้องต้น

สำหรับด้านเกษตรกรรม ได้มีการวางแผนจำกัดพื้นที่ทำการเพาะปลูก โดยได้มีการทำความเข้าใจและขอความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ในเขตชลประทานในการลงทะเบียนพื้นที่ทำเกษตรกรรมเพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำในที่พื้นที่ที่สามารถรองรับได้ ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทานยังคงต้องมีการเฝ้าติดตามและประเมินสถานการณ์ต่อไป

สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ น้ำสำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภค โดยในปีนี้จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าปริมาณฝนอาจจะลดลงจากปีที่แล้วเนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญ และที่สำคัญที่สุดคือขอให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด และคุ้มค่า หากเกิดปัญหาน้ำไม่เพียงพอในพื้นที่ให้รีบแจ้ง อปท. หรืออำเภอ เพื่อจะได้ประสานการให้ความช่วยเหลือต่อไป/////

 

ภาพ/ ข่าว ศิริเกษ หมายสุข ผู้สื่อข่าวประจำ จ.ศรีสะเกษ

Related posts