จังหวัดน่านจัดแถลงข่าวงานประเพณีหกเป็งนมัสการพระมหาธาตุเจ้าภูเพียงแช่แห้ง ประจำปี 2567

จังหวัดน่านจัดแถลงข่าวงานประเพณีหกเป็งนมัสการพระมหาธาตุเจ้าภูเพียงแช่แห้ง ประจำปี 2567 เพื่อสืบสานและอนุรักษ์ฟื้นฟูประวัติศาสตร์ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีอันดีงาม ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่นระหว่างวันที่ 18 – 24 มีนาคม 2567

วันที่ 6 มีนาคม 2567 เวลา 18:00 น. ณ วัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน พระราชศาสนาภิบาล เจ้าคณะจังหวัดน่าน พระสุนทรมุนี รองเจ้าคณะจังหวัดน่าน พระชยานันทมุนี รองเจ้าคณะจังหวัดน่าน เจ้าอาวาสวัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง ,วัฒนธรรมจังหวัดน่าน , นายกฤชเพรช เพชระบูรณิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน , นายนพรัตน์ ถาวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน หัวหน้าส่วนราชการ ,หัวหน้าหน่วยงาน องค์กร พุทธศาสนิกชนประชาชนจังหวัดน่าน เข้าร่วมงานแถลงข่าว


จังหวัดน่าน ร่วมกับคณะสงฆ์จังหวัดน่าน สภาวัฒนธรรมจังหวัดน่าน วิทยาลัยสงฆ์นครน่านเฉลิมพระเกียรติ วัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง ส่วนราชการ หน่วยงาน องค์กรทุกภาคส่วน เห็นความสำคัญในการสืบสานและอนุรักษ์ฟื้นฟูประวัติศาสตร์ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีอันดีงาม ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น ความเป็นอารยธรรมอันเก่าแก่ของหมู่ชนที่อาศัยลุ่มแม่น้ำน่านให้มีความต่อเนื่องอย่างยั่งยืน อันเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดน่าน โดยกำหนดจัดงานประเพณีหกเป็งนมัสการพระมหาธาตุเจ้าภูเพียงแช่แห้ง ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 18 – 24 มีนาคม 2567 และได้กำหนดจัดกิจกรรม ดังนี้


กิจกรรมทางศาสนา ได้แก่ การแสดงพระธรรมเทศนามหาชาติเวสสันดรชาดก ระดับนานาชาติและการแสดงธรรมแบบพื้นเมืองภาคพายัพ,พิธีถวายสักการะองค์พระมหาธาตุเจ้าภูเพียงแช่แห้งและพิธีบวงสรวงเทพยดาอารักษ์บ้านอารักษ์เมือง ,พิธีเจริญพระพุทธมนต์หลวง สวดมนต์ตั๋น, พิธีแก้มเลี้ยง อารักษ์หลวงเมืองน่าน ตามโบราณราชสำนักแห่งพื้นนครน่าน, พิธีทำบุญตักบาตร และพิธีถวายน้ำสรงพระราชทานพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พิธีสรงน้ำพระราชทานผ้าไตรพระราชทาน ผ้าห่มพระราชทานถวายเป็นพุทธบูชาองค์พระมหาธาตุเจ้าภูเพียงแช่แห้ง,การบรรพชาอุปสมบทพระภิกษุสามเณร จำนวน 100 รูปและบวชศีลจาริณี จำนวน 100 คนและกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรม เช่น การประกวดขบวนแห่ครัวตาน ของ 15 อำเภอ,การแสดงศิลปะวัฒนธรรม ของ 15 อำเภอ (ณ เวทีกลาง) ,การแสดงหมอลำ คณะหนึ่งรุ่งทิวาอำนวยศิลป์ จากจังหวัดหนองบัวลำภู ,ฟ้อนศรีภูเพียง,ชกมวยไทย พร้อมด้วยกิจกรรมการประกวดศิลปวัฒนธรรม อาทิ

การประกวดขบวนแห่ครัวตาน ของ 15 อำเภอ ,การประกวดร้องเพลงพร้อมหางเครื่อง ของโรงเรียนมัธยมศึกษาจังหวัดน่าน,การประกวดไลน์แดนซ์ผู้สูงอายุ,การประกวดวงฆ้องกลองล่องน่าน ฟ้อนล่องน่าน,การประกวดแข่งขันตีกลองแอว,การประกวดรำวงมะเก่าผู้สูงอายุ,การประกวดแข่งขันตีกลองปูจา กลองสะบัดชัย กลองมองเซิง,การประกวดแข่งขันตีกลองแอว บอกไฟดอก,การประกวดแข่งขันประดิษฐ์ตุง 12 ราศี ด้วยเทคนิคการตัดเฉพาะ,การประกวดแข่งขันงานจักสาน กลุ่มตาแหลว กลุ่มไป่ตอก,การประกวดแข่งขันประดิษฐ์โคม,การประกวดแข่งขันทำอาหารแกงแคไก่เมือง,การประกวดแข่งขันทำบายศรี,การประกวดแข่งขันประดิษฐ์เครื่องสักการะต้นผึ้ง,การประกวดแข่งขันแกะสลักผลไม้,การประกวดแข่งขันประดิษฐ์ต้นกุ่ม ต้นดอกและกิจกรรมการสาธิตถ่ายทอดภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม อาทิ ชุมชนยลวิถีวัดพระธาตุแช่แห้ง-หนองเต่า มีการสาธิตกิจกรรม เช่น การฝันเทียน การทำสบู่สมุนไพร แกงแคไก่เมือง การทำขนมเทียนสมุนไพร การจำหน่ายผ้าพื้นเมืองน่าน การจำหน่ายพืชผักปลอดสารพิษ
ทั้งนี้ยังมีกิจกรรมสำหรับเด็ก เยาวชน,การประกวดร้องเพลงพร้อมหางเครื่อง ของเด็กนักเรียนโรงเรียนมัธยมศึกษาจังหวัดน่าน,การประกวดโฟล์กซอง ของเด็กนักเรียนโรงเรียนมัธยมศึกษาจังหวัดน่าน พร้อมด้วยกิจกรรมกาดมั้วคัวศิลป์,กิจกรรมสอยดาว,การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน,การจำหน่ายสินค้าโอทอป สินค้าพื้นเมือง ผ้าพื้นเมืองน่าน

เครื่องเงิน อาหารพื้นเมือง ขนมพื้นเมือง จักสาน ของที่ระลึกผักผลไม้ พืชผักสวนครัวปลอดสารพิษ
ตามประวัติศาสตร์อันยาวนาน พระมหาธาตุเจ้าภูเพียงแช่แห้งซึ่งเป็นปูชนียสถานที่สำคัญและเก่าแก่ที่สุดของจังหวัดน่าน ในปีพ.ศ. 2567 พระมหาธาตุเจ้าภูเพียงแช่แห้ง จะมีอายุกาลครบ 671 ปี ตั้งแต่อดีตกาลได้กำหนดให้มีการจัดงานประเพณีหกเป็ง นมัสการพระมหาธาตุเจ้าภูเพียงแช่แห้ง ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เหนือ(เดือนมีนาคม) เป็นประจำทุกปี และได้ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์ สืบทอดวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของจังหวัดน่าน ให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศมากขึ้น โดยนำจุดเด่นของวัฒนธรรมประเพณีมาใช้ในการดึงดูดนักท่องเที่ยว หรือผลิตภัณฑ์ที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจ ที่เป็น Soft Power ของจังหวัดน่าน มากระตุ้นให้นักท่องเที่ยวอยากเข้ามาเที่ยวในจังหวัดน่านมากขึ้น โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนให้ได้มาตรฐาน ตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในการสร้างพลังสร้างสรรค์ หรือ Soft Power ของประเทศ

เพื่อยกระดับและพัฒนาความรู้ ความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย ในการสร้างมูลค่า สร้างงานและกระจายรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยใช้กลไกของงานวัฒนธรรมประเพณีผลักดันให้เป็น
เมืองท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์สู่เมืองมรดกโลก โดยเชื่อมโยงกับเมืองหลวงพระบาง แขวงไชยะบุรี สปป.ลาว การออกแบบและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเป็นความท้าทายที่จะให้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ สร้างงาน สร้างรายได้ ธำรงรักษาเอกลักษณ์ วัฒนธรรม ภูมิปัญญา และยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชนได้อย่างทั่วถึง เป็น Soft Power ที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายที่ยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนมีความสำคัญอย่างมาก ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นมิติที่ครอบคลุมถึงวัฒนธรรม ภูมิปัญญา นวัตกรรม ธุรกิจ ชุมชน และผู้คนการทำงานร่วมกันทั้งในการพัฒนาคน พัฒนาชุมชน พัฒนาโอกาสทางธุรกิจ และการสนับสนุนผลักดันจากภาครัฐ จึงเป็นความสัมพันธ์ที่ต้องร่วมมือกันอย่างบูรณาการในการผลักดันให้เศรษฐกิจไทยสู่ความเจริญเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืนต่อไป

 

/บุญยงค์ สดสอาด รายงาน

Related posts