‘วันมูหะมัดนอร์ มะทา’ อดีตประธานรัฐสภา เสวนา ‘90 ปีรัฐสภาไทย’ ถาม หากละเมิดอำนาจศาลต้องติดคุก แต่ทำไมละเมิดอำนาจประชาชน ฉีกรัฐธรรมนูญ ศาลกลับวินิจฉัยว่าเป็นอำนาจรัฏฐาธิปัตย์?

‘วันมูหะมัดนอร์ มะทา’ อดีตประธานรัฐสภา เสวนา ‘90 ปีรัฐสภาไทย’ ถาม หากละเมิดอำนาจศาลต้องติดคุก แต่ทำไมละเมิดอำนาจประชาชน ฉีกรัฐธรรมนูญ ศาลกลับวินิจฉัยว่าเป็นอำนาจรัฏฐาธิปัตย์?

วันนี้ (27 มิ.ย.65) นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ในฐานะ อดีตประธานรัฐสภาและอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ร่วมเสวนา​ “90 ปี​ รัฐสภา​ไทย​ การเดินทางและความหวัง” ร่วมกับ นายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภาและอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ร่วมบรรยายพิเศษและกล่าวเปิดงานด้วย

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา กล่าวว่า “ผมเข้ามาในรัฐสภาตั้งแต่ปี 2522 โดยได้เป็นประธานรัฐสภาในปี 2539 ทำงานเกี่ยวเนื่องกับรัฐสภามาปีนี้ก็ 43 ปีแล้ว แต่คิดว่าเรายังเดินทางไม่ถึงเป้าหมาย และไม่ถึงความฝัน ยังรู้สึกผิดหวังลึกๆ ในบทบาทของรัฐสภา ที่ควรจะเป็นสภาของประชาชน และเป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้ ต้องเป็นสภาที่ได้เลือกผู้บริหารประเทศอย่างแท้จริง และทำเรื่องที่เป็นประโยชน์มากกว่านี้ เช่น การกระจายอำนาจ ให้ประชาชนทุกจังหวัดมีสภาจากการเลือกตั้ง และมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นของตัวเอง สภาต้องไม่ทำงานให้รัฐบาลกลางอย่างเดียว”

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวถึงสิ่งที่ประทับใจในทางบวกของการเดินทางของรัฐสภาตลอด 90 ปี ว่า

1.ช่วงที่ตนเป็นประธานสภาฯ คือการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน พ.ศ.2540 ที่มาจากประชาชนจริงๆ เพราะ มี ส.ส.มาจากการเลือกตั้ง มีความเป็นประชาธิปไตย มีองค์อิสระ และมี ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งยังมีการกำหนดขอบเขตอำนาจอย่างชัดเจน แต่น่าเสียดายที่ใช้ได้เพียง 9 ปี เพราะเกิดการปฏิวัติ เมื่อปี 2549

2.การตั้งสถาบันพระปกเกล้าที่ทำงานควบคู่กับรัฐสภา เพื่อพัฒนาประชาธิปไตย

3.รัฐสภาปัจจุบัน มีช่องทางในการถ่ายทอดสดการประชุมรัฐสภา ทำให้ประชาชนมีโอกาสติดตามบทบาทสมาชิกได้อย่างใกล้ชิด อันจะส่งผลต่อการเลือกตั้งสมาชิกตามลำดับ และจะส่งผลต่อรัฐบาลด้วย แต่ต้องไม่มีการซื้อเสียง งูเห่า และการแจกกล้วย

“ส่วนปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการทำงานของรัฐสภา คือ เราถูกเตะตัดขาจากการปฏิวัติรัฐประหาร เพราะมีขุนศึก บวกนายทุน และอำนาจนิยมที่ชอบในอำนาจ ซึ่งวันนี้เราก็ยังไม่พ้นวังวนนี้ จนเราได้รัฐบาลที่มาจากการก่อเหตุนี้ ที่ต้องมาคอยดูแลขุนศึก และนายทุน จนทำให้ประชาชนเดือดร้อน เราจึงต้องสร้างจิตสำนึกประชาธิปไตยให้ประชาชน และสร้างความรู้สึกนึกคิดว่า การปฏิวัติเป็นสิ่งชั่วร้าย เพราะประชาธิปไตยที่กินได้ ไม่ได้เกิดจากรัฐประหาร”

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวถึงการทำงานของรัฐสภาที่ยึดโยงประชาชน ว่า “ผมคิดว่ารัฐสภาต้องยึดโยงกับประชาชน โดย ส.ว.ควรมีหน้าที่แค่การกลั่นกรองกฎหมาย ไม่ใช่มามีส่วนในการทำกฎหมายปฏิรูป หรือกฎหมายสำคัญอื่นๆ ทั้งนี้ ตนอยากฝากไปถึงรัฐบาลเรื่องกระทู้ถามสด ที่มีขึ้นเพื่อเป็นการวัดกึ๋นการทำงานของรัฐบาล ถ้าทำงานไม่เก่งจะมาตอบไม่ได้ เพราะเป็นการถามเดี๋ยวนั้น ตอบเดี๋ยวนั้น และต้องไม่ใช่การมอบให้รัฐมนตรีมาตอบแทน นายกฯ ต้องฟังและเข้าใจเอง อย่าบอกว่างานเยอะ เพราะมีการกำหนดแล้วว่า วันพุธ และวันพฤหัสบดี มีการประชุมสภาฯ รัฐบาลต้องว่าง และที่รัฐสภามีห้องมากมายรองรับการทำงานของรัฐบาล ดังนั้นรัฐบาลต้องมาสภา เพราะคุณมาจากสภา เพราะเบอร์หนึ่งคือประธานรัฐสภา และสภาคือฝ่ายที่ให้เงินรัฐบาลไปบริหารประเทศ ส่วนนายกฯ คือเบอร์สอง”

“อยากถามว่าเวลาละเมิดอำนาจศาล ทำไมถึงติดคุก แต่เวลาที่มีการทำปฏิวัติละเมิดอำนาจประชาชนทั้งประเทศ และมีการฉีกรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ศาลกลับวินิจฉัยว่าเป็นอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ดังนั้นจึงอยากฝากให้ศาลทบทวนแนวทางวินิจฉัยนี้เพราะจะเป็นเรื่องที่ทำให้เราเดินต่อไปไม่ได้ และไม่เช่นนั้นจะเจอการรัฐประหารอีกหลายรอบ”

นอกจากนี้ ภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการ “90 ปี รัฐสภา 90 ความทรงจำ” โดยนำวัตถุดิบพิพิธภัณฑ์ชิ้นสำคัญและเอกสาร จดหมายเหตุอันมีคุณค่า ทำเอกสารจดหมายเหตุ เพื่อนำเสนอเรื่องราวการดำเนินงานตามภารกิจต่าง ๆ ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ปฏิบัติควบคู่ไปกับการสนับสนุนงานด้านนิติบัญญัติ รวมทั้งเหตุการณ์เกี่ยวกับการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2475 ซึ่งมีภาพนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ในขณะดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาด้วย

ทั้งนี้ รัฐสภาในฐานะองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติได้ถือกำเนิดขึ้น พร้อมกับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่สนับสนุนการดำเนินงานของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งในวันที่ 28 มิถุนายน 2565 นี้ ถือเป็นวันครบรอบ 90 ปีที่รัฐสภาที่ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติในระบอบประชาธิปไตย

#พรรคประชาชาติ #รัฐสภา

Related posts