รองโฆษกรัฐบาลฯ ลงพื้นที่ตามรอยประวัติศาสตร์โบราณสถานทางพระพุทธศาสนา อ.สะบ้าย้อย จ. สงขลา พร้อมเยี่ยมชมแหล่งกำเนิดกาแฟโรบัสต้าถ้ำคอก อายุกว่า 300 ปี แนะ!!!! ปชช. ร่วมอนุรักษ์มรดกอันล้ำค่าและต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อพื้นที่

รองโฆษกรัฐบาลฯ ลงพื้นที่ตามรอยประวัติศาสตร์โบราณสถานทางพระพุทธศาสนา อ.สะบ้าย้อย จ. สงขลา พร้อมเยี่ยมชมแหล่งกำเนิดกาแฟโรบัสต้าถ้ำคอก อายุกว่า 300 ปี แนะ!!!! ปชช. ร่วมอนุรักษ์มรดกอันล้ำค่าและต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อพื้นที่

วันที่ 23 กรกฏาคม 2565 ผศ.ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาล (ด้านประสานการมีส่วนร่วม) พร้อมด้วยนางสุนิสา รามแก้ว ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และนายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย/สื่อมวลชนจากหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ลงพื้นที่เยี่ยมชมวัดเกาะอภินิหาร ตำบลเปียน อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ที่เดิมมีชื่อว่า “วัดกุหร่า” ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำเทพา ปัจจุบันมีสภาพเป็นเพียงวัดร้าง แต่ยังคงปรากฏร่องรอยหลักฐานโบราณสถานคือ “ซากอุโบสถเก่า” ที่มีการสันนิษฐานว่าถูกสร้างขึ้นในช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาที่มีความสำคัญอีกหนึ่งแห่ง เนื่องจากตั้งอยู่บนเส้นทางสัญจรโบราณ มีผู้คนและพ่อค้าแม่ค้าใช้เดินทางไปมาระหว่างเมืองไทรบุรีและอาณาจักรสยาม ปัจจุบันอุโบสถเก่าวัดกุหร่าได้ถูกขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุสถานทั่วราชอาณาจักร” แต่ทุกวันนี้ยังคงเหลือฐานอุโบสถซึ่งมีลักษณะโค้งงอน ปรากฏรอยเสมาอยู่รอบอุโบสถ โครงสร้างส่วนบนเสียหายแทบทั้งหมด โดยมีการสันนิษฐานว่าอุโบสถหลังนี้ น่าจะสร้างขึ้นช่วงพุทธศตวรรษที่ 23 – 24 อีกทั้ง “วัดกุหร่า” ยังได้ถูกเรียกว่า “วัดเกาะวิหาร” ก่อนจะเพี้ยนมาเป็น “วัดเกาะอภินิหาร” และยังคงพบซากเขื่อนหรือสถูป 3 แห่ง (ที่บรรจุอัฐิ) ภายในวัดแห่งนี้ ได้แก่ เขื่อน(สถูป) หลวงพ่อลิ้นดำ เขื่อน(สถูป) สมภารโต๊ะอิหม่าม และเขื่อน(สถูป) สมภารเณรน้อยอีกด้วย

จากนั้นรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ฯ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมโบราณสถานวัดถ้ำตลอด ตำบลเขาแดง เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีการผสมผสานศิลปกรรมอยุธยาและศิลปะพื้นถิ่นภาคใต้ ซึ่งภายในประกอบด้วย ถ้ำทวดหยัง ถ้ำมหาอุด และถ้ำระฆัง หรือถ้ำคนถรรพ์ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าถ้ำค้างคาว มีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ขนาดใหญ่ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ที่นับนับถือของคนในพื้นที่ อีกทั้งยังเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปกว่า 100 องค์ ตั้งเรียงราย และมีหินปูน หินงอก หินย้อยที่ส่องแสงระยิบระหยับตลอดแนวทางเดิน ทำให้ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวทั้งในและนอกพื้นที่เดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก

ต่อมาได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมแหล่งกำเนิดต้นกาแฟโบราณโรบัสต้า ตำบลเขาแดง อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นต้นกาแฟโบราณสายพันธุ์โรบัสต้าที่ขึ้นอยู่ริมเชิงเขาบริเวณรอบๆถ้ำคอก ที่ถือเป็นแหล่งกำเนิดกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้า มีอายุกว่า 300 ปี อีกทั้งในอดีตได้มีการเล่าต่อๆกันว่าสถานที่แห่งนี้ยังเป็นสถานที่นั่งวิปัสนากรรมฐานของหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด เมื่อครั้งเดินทางแสวงบุญธุดงค์ไปตามป่าเขาแนวชายแดนไทย – มาเลเซียสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีลักษณะเป็นเวิ้งถ้ำอยู่กลางภูเขาลูกหนึ่งเรียกว่าถ้ำคอก ทำให้ได้มีการผูกโยงเรื่องราวถึงแหล่งกำเนิดกาแฟถ้ำคอกตั้งแต่ครั้งนั้น ถือเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของภาคใต้ ปัจจุบันกาแฟโรบัสต้าถ้ำคอกได้มีการพัฒนาสายพันธุ์กาแฟอย่างต่อเนื่อง โดยมีส่วนราชการร่วมถึงภาคเอกชนเข้ามาส่งเสริมและสนับสนุนจนมีผลผลิตนำมาแปรรูปเป็นเครื่องดื่ม และจำหน่ายให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวตลอดจนคอกาแฟ โดยรสชาติหวานไม่เปรี้ยว มีความเข้มข้นกว่ากาแฟชนิดอื่น

ในการนี้ผศ.ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาล (ด้านประสานการมีส่วนร่วม) เปิดเผยว่า ความหลากหลายของสังคมพหุวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นทุนที่สำคัญทางสังคมที่จะนำไปสู่ความเจริญในด้านต่างๆ ซึ่งนโยบายองรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมของพี่น้องประชาชนทั้งไทยพุทธและมุสลิมให้เกิดความสันติสุขอย่างยั่งยืน โดยเน้นการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวไปพร้อมๆกับการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้กับประชาชนในพื้นที่เช่น การปลูกกาแฟโรบัสต้าที่เป็นพันธุ์เฉพาะถิ่นของอำเภอสะบ้าย้อย และมีความเก่าแก่มากว่า 300 ปี ที่ปัจจุบันมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้นำไปวิจัยจนมีผลที่น่าพอใจ จนทำให้เป็นจุดขายให้กับนักท่องเที่ยวได้ รวมถึงสามารถส่งเสริมให้เป็นสินค้า GI หรือสินค้าประจำภูมิศาสตร์ประจำท้องถิ่น ดังนั้นการพัฒนาสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น หากไม่ได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน ซึ่งการขับเคลื่อนในทุกมิติภาครัฐเองมีความมุ่งหวังที่ต้องการจะช่วยเหลืออย่างสุดความสามารถ เพื่อให้คุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนดีขึ้นและเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้จึงขอให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่มองสิ่งเหล่านี้ให้เป็นทรัพย์สินอันล้ำค่าและช่วยกันต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อไป

Related posts