ศอ.บต. ขับเคลื่อนป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด ชูกลไก สร้างงาน สร้างอาชีพ แก่ผู้ผ่านบำบัดยาเสพติดให้กลับสู่สังคมพร้อมมีอาชีพอย่างมั่นคง
เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565 เวลา 13.30 น. ที่ โรงแรมเซาท์เทิร์น วิว อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี นายศรัทธา คชพลายุกต์ รองเลขาธิการ ศอ.บต. เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการการขับเคลื่อนงานแบบบูรณาการด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ผ่านการบำบัดรักษายาเสพติด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยกองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนา เพื่อความมั่นคง ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดขึ้นเพื่อเป็นการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และร่วมสรุปถอดบทเรียนผลการดำเนินงานของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 พร้อมเตรียมการขับเคลื่อนงานของปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่จะมาถึงนี้อีกด้วย
โดยมี นายนันทพงศ์ สุวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาเพื่อความมั่นคง ตลอดจน หัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมในพิธี ท่ามกลางกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมกิจกรรม เป็นเจ้าหน้าที่ที่ขับเคลื่อนงานด้านยาเสพติดในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา ประกอบด้วย ศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด กอ.รมน.ภาค 4 สน. ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานคุมประพฤติจังหวัด สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด และปลัดอำเภอทั้ง 37 อำเภอ รวมทั้งหมด 60 คน เข้าร่วม
ในการนี้ นายศรัทธา คชพลายุกต์ รองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ดำเนินภารกิจ การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ผ่านการบำบัดรักษาจากการติดยาเสพติด จากทุกระบบ และทุกหน่วยงาน ทั้งระบบสมัครใจบำบัด ระบบบังคับบำบัด ระบบต้องโทษ และระบบอื่นๆ ผ่านกระบวนการฝึกอบรมวิชาชีพ เป็นการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติราชการรายปี พ.ศ. 2565 ของ ศอ.บต. ซึ่งมีพื้นที่ดำเนินการในจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ได้บูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี
นายศรัทธา คชพลายุกต์ กล่าวอีกว่า ปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีแนวโน้มลดลง จากสถิติพบว่า ยาบ้า แพร่ระบาดมากที่สุดในพื้นที่ คิดเป็นร้อยละ 79.20 ศอ.บต. ในฐานะเป็นหน่วยนำการพัฒนา ได้ขับเคลื่อนการฝึกอบรมวิชาชีพเพื่อเตรียมความพร้อมในการประกอบอาชีพให้กับผู้ผ่านการบำบัดรักษาจากการติดยาเสพติด เน้นอาชีพที่ตลาดแรงงานมีความต้องการ ซึ่งได้ดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ผ่านหลักสูตรการฝึกอบรม รวมทั้งสิ้น 3,603 คน สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีผู้ติดยาเสพติด เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา จำนวน 2,052 คน และได้รับการสนับสนุนการพัฒนาด้านอาชีพ จำนวน 159 คน คิดเป็นร้อยละ 7.75 ประกอบด้วย 1. ช่างซ่อมเครื่องยนต์เพื่อการเกษตรและรถจักรยานยนต์ จำนวน 64 คน 2. ช่างเชื่อมผลิตภัณฑ์จากโลหะ จำนวน 33 คน 3. ช่างตัดผมสุภาพบุรุษ จำนวน 32 คน 4. ช่างเชื่อมเฟอร์นิเจอร์ จำนวน 20 คน และ 5. สานตะกร้า จำนวน 10 คน