ติงรัฐเมิน“อุนหนุนเด็กถ้วนหน้า” สบช่องกม.เทงบบุคลากรซ้ำซ้อน

ติงรัฐเมิน“อุนหนุนเด็กถ้วนหน้า” สบช่องกม.เทงบบุคลากรซ้ำซ้อน

“ทวี สอดส่อง” เผยรัฐเลือกใช้กฎหมายที่เป็นคุณกับตนเอง อ้าง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง เทเงินค่าตอบแทนบุคลากรและสวัสดิการ ทั้งๆ ที่มีเงินเดือนอยู่แล้ว เปิดช่องงบลับ กอ.รมน.จ่ายผู้ว่าฯ รองผู้ว่าฯ แต่เงินอุดหนุนเด็กถ้วนหน้า บัญญัติในรัฐธรรมนูญ รัฐบาลกลับไม่จัดให้ จี้สังคายนาทั้งระบบ

เมื่อเวลา 09.30 น. วันอังคารที่ 7 มิ.ย.65 คณะทำงานขับเคลื่อนสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กถ้วนหน้า ร่วมกับ คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ, คณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม และคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร รวมถึงสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. และองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ได้จัดการเสวนาวิเคราะห์ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ พ.ศ.2566 เพื่อผลักดันเงินอุดหนุนเด็กเล็ก 0-6 ปี แบบถ้วนหน้าตามมติคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) เพื่อเด็กทุกคนได้มีสวัสดิการที่เท่าเทียม

กิจกรรมจัดขึ้นที่ห้องประชุมสัมมนา 1-2 อาคารรัฐสภา โดยมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ พ.ศ.2566 ร่วมเสวนา

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า การไม่จัดสวัสดิการให้เด็กถ้วนหน้า รัฐบาลทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 54 เพราะเขียนไว้ชัดว่า เด็กก่อน 12 ปีเรียนฟรีแล้ว คสช.ก็ไปออกคำสั่งให้เป็น 15 ปี แต่ในวรรค 2 เด็กก่อนวัยเรียน เราก็นิยามถึงแรกเกิด และใช้คำว่า “ทุกคนก็ถ้วนหน้า” การที่รัฐบาลไม่จัดงบ แล้ววันนี้มาให้กรรมาธิการฯไปพิจารณา ต้องบอกว่าบทบาทของกรรมาธิการในรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่ตัดได้อย่างเดียว แต่เพิ่มไม่ได้ หรือจะบอกเอาไปให้หน่วยไหนก็ไม่ได้

สิ่งที่ตัดไม่ได้มี 3 เรื่อง คือ เรื่องการใช้หนี้เงินกู้ ซึ่งงบประมาณครั้งนี้ใช้หนี้เงินกู้ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท แต่ดอกเบี้ยปาเข้าไป 2 แสนล้านบาท คือรัฐบาลกู้แพง ดอกเบี้ยร้อยละ 2.4 ต่อปี ถือว่ามากสำหรับเงิน 10 ล้านล้านบาท

เรื่องที่ 2 รัฐบาลต้องใช้และตัดไม่ได้ คือ ต้นเงินกู้และดอกเบี้ย เรื่องที่ 3 คือเรื่องที่กฎหมายกำหนดไว้เฉพาะ จริงๆ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่สูงสุด แต่รัฐบาลพยายามจะเลือกใช้กฎหมายที่เป็นคุณกับฝ่ายรัฐบาลเอง

“ยกตัวอย่าง เรื่องที่ในรัฐธรรมนูญไม่มีเขียนไว้ โดยเฉพาะในเรื่องค่าตอบแทนบุคลากรและสวัสดิการ ในรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้เลย แต่ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ ไปเขียนไว้บอกว่าเวลารัฐจัดทำงบประมาณ จะต้องมีรายจ่ายให้กับบุคลากรและสวัสดิการของรัฐอย่างพอเพียง แต่รัฐธรรมนูญเขียนให้เด็กเรียนฟรีตั้งแต่ก่อนวัยเรียน รัฐบาลกลับไม่ทำ ฉะนั้นกฎหมายวินัยการเงินการคลัง ถึงเวลาต้องสังคายนา”

“ส.ส.พรรคก้าวไกลอภิปรายเอาไว้ว่า แม้แต่ดูเจาะเข้าไปในเงินเดือนของข้าราชการ จะพบว่าข้าราชการอื่นๆ เฉลี่ยไม่ถึง 40 เปอร์เซนต์ แต่ข้าราชการทหารบก 70 เปอร์เซนต์ เพราะไปแฝงเป็นงบเบี้ยอะไรต่างๆ ในกองทัพ อย่างเช่น กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) คราวที่แล้ว พองบเข้ามาแล้ว สตง.ตรวจก็พบว่า มีเงินไปจ่ายให้กับบุคลากรที่มีเงินเดือนอยู่แล้ว เช่น รองผู้ว่าฯ หรือผู้ว่าฯ เขามีเงินเดือนอยู่ แล้วไปมีเบี้ย กอ.รมน.อีก 7,000 บาท ลักษณะอย่างนี้เป็นรายจ่ายอื่น เป็นงบลับ”

“ดังนั้นสิ่งที่เราจะเรียกร้องวันนี้ เรามาเรียกร้องผิดคน เราต้องเดินไปที่นายกฯ ว่าท่านไม่ต้องสงสารเด็ก แต่ให้รับรองสิทธิของเด็กตามรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งผู้บังคับใช้กฎหมายปัจจุบันใจแคบ โดยเฉพาะใจแคบกับเด็ก ผมคิดว่าการให้มนุษย์โดยเฉพาะเด็กเป็นอนาคต อย่าถือว่าเป็นการลงทุนเลย เราคิดว่าการทำให้มนุษย์มีความรู้ จะใช้งบประมาณเท่าไหร่ก็ควรจะใช้” พ.ต.อ.ทวี กล่าว

เลขาธิการพรรคประชาชาติ ยังเล่าถึงการทำงานในกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ว่า ได้ดูตัวเลขเอาไว้ ถ้าจะตัดในสิ่งที่เป็นวิทยาศาสตร์จริงๆ สามารถตัดได้หลายแสนล้านบาท ยกตัวอย่างเช่น งบกันไว้เหลื่อมปี ปกติงบประมาณจะต้องใช้ในวงรอบ 1 ตุลาคม ถึง 30 กันยายน ต้องใช้ให้หมด ถ้าใช้ไม่หมดกฎหมายสั่งให้คืนแล้วมาจัดใหม่ แต่บางหน่วยงานก็จะใช้ช่องมาขออนุมัติเป็นคราวๆ กับกระทรวงการคลัง

“เราพบเงินก้อนนี้เป็นเงินกู้ เป็นเงินที่เด็กทุกคนต้องไปเสียภาษีในอนาคต พอใช้เงินกู้ไม่ถึงกำหนด ดอกเบี้ยก็วิ่ง มันไม่เกิดผลผลิตทางจีดีพี เลย ไม่เกิดการลงทุน เป็นเพราะรัฐขี้เกียจทำหรือเปล่า แล้วใช้เงินไม่หมด เงินกลุ่มนี้ถ้าดูคร่าวๆ ก็หลายแสนล้านบาท ถ้าใช้ไม่หมดเอามาสักหมื่นกว่าล้านให้เด็กได้ไหม ยกตัวอย่าง กระทรวงกลาโหมปี 65 ตอนนี้ยังเหลือแสนกว่าล้านบาท แล้วเหลืออีกไม่กี่เดือนจะสิ้นปีงบประมาณ กระทรวงคมนาคมก็เหลืออีกแสนกว่าล้าน”

“อีกประการหนึ่ง อย่างเช่นงบที่ปรึกษา เวลาจะรับคนเข้าเป็นข้าราชการ จบปริญญาเอก จบเกียรตินิยมดีมากเลย พอมาเข้าทำงาน กลับทำงานไม่เป็นเลย ต้องจ้างที่ปรึกษา มีเยอะมาก และมีที่เป็นลักษณะเบี้ยประชุมเหมาจ่ายให้ไปทำหน้าที่อื่นๆ หรือรถประจำตำแหน่ง รวมๆ ก็เป็นหมื่นล้านบาท บางคนมีรถในบ้านเกือบ 10 คันแล้ว ต้องมีรถประจำตำแหน่งอีก”

“และที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ วันนี้เรามีงบที่เรียกว่า ‘งบผูกพันข้ามปี’ คือการเอาเงินในอนาคตมาใช้ แล้วงบผูกพันข้ามปีก็ไม่ได้ใช้จ่ายตรงกับความต้องการของประชาชน ยกตัวอย่าง บางคนบอกว่าชื่นชมรถไฟฟ้า พอไปดูในงบประมาณ รถไฟฟ้าสายสีม่วงต้องเอาเงินกู้ของพวกเราที่จ่ายดอกเบี้ยไปจ่ายรถสายสีม่วงเกือบ 2 หมื่นล้านบาท แล้วรถวิ่งโดยต้องการคนจากบางซื่อไปนนทบุรี 8 หมื่นคน แต่คนขึ้นจริงอยู่แค่ 2 หมื่นคน แต่เอาเงินของคนปัตตานี เอาเงินของคนเชียงราย เอาเงินของคนอุดรฯ ต้องมาจ่าย คือเราไม่ตื่นรู้กับการใช้เงิน คนที่ได้ประโยชน์ก็ผู้รับเหมา คนที่ได้ประโยชน์คือคนข้างทาง แต่คนที่ใช้หนี้คือประชาชนทั้งประเทศ”

พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า ในฐานะ ส.ส. ก็จะตัดลดงบลง คราวที่แล้วก็ตัดเยอะ ตัดได้พอเพียง แต่สุดท้ายนำไปโปะเป็นงบกลางเสียอีก พอเป็นงบกลาง เมื่อดูการใช้เงินกลับไปใช้เป็นค่าบุคลากร ไม่ได้ใช้แก้โควิด ถ้าให้กับเด็ก คิดว่าสิ่งที่จะพาประเทศไปข้างหน้าได้อย่างดีคือการศึกษา สิ่งที่จะวัดว่าคนไทยเหนือกว่าประเทศอื่นก็คือคุณภาพของคน ประเทศสิงคโปร์เท่ากับจังหวัดนนทบุรี ทำไมดูมีคุณภาพ สาเหตุก็เพราะคนมีคุณภาพ ฉะนั้นเราต้องพัฒนาคนตั้งแต่เกิดถึงเชิงตะกอน มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นปัญหาไม่ได้อยู่ที่งบประมาณ ปัญหาอยู่ที่ความคิดของคนเป็นรัฐบาล ไม่ให้ค่าของความเป็นเด็กว่ามีความสำคัญ

ในที่ประชุมมีคำถามเพิ่มเติมว่า ในปีที่แล้วกรรมาธิการฯช่วยตัดงบให้ กดยช.หมื่นกว่าล้านบาท แต่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ ส.ส.ไม่สามารถไปเพิ่มงบได้ ในปีนี้ทางกรรมาธิการฯมีการตัดงบอีก แต่ทำอย่างไรตอนจบจะได้งบไปเติมที่ กดยช.

พ.ต.อ.ทวี กล่าวตอบว่า ในงบกลางมีบางปีใช้หมื่นล้านบาทให้เด็ก ทำไมถ้าเด็กเกิดมาก็ไม่เสมอภาคกันแล้ว เด็กครึ่งหนึ่งได้รับเงินจากรัฐ เด็กอีกครึ่งหนึ่งไม่ได้รับเงินจากรัฐ เพราะรัฐไปกำหนดเงื่อนไขความสงสารของรัฐ คือการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นคนโดยใช้ความสงสาร จะไปพิสูจน์ได้อย่างไร คนที่จะพิสูจน์ได้คือคนในชุมชน คนในหมู่บ้าน

“ตอนผมเป็นเลขาธิการ ศอ.บต. ประชุมเรื่องคนจนเกือบ 25 ครั้ง ทำไมคุณไม่โยนไปให้ชุมชน เขารู้ว่าใครลำบาก ต้องดูบางคนมีเงินไม่ถึง 100 บาท ครอบครัวเขามีตั้ง 19 คน คุณจะใช้เกณฑ์อะไร วันนี้เราต้องเลิกรัฐรวมศูนย์ ต้องใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง ไม่เช่นนั้นเราแก้ปัญหายาก” เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าว

Related posts