สพป.พิษณุโลก เขต 1 ประเมินคุณภาพการเรียน ONLINE -ONSITE ห่วงความพร้อมของครอบครัว

สพป.พิษณุโลก เขต 1 ประเมินคุณภาพการเรียน ONLINE -ONSITE ห่วงความพร้อมของครอบครัว

 

นายสุรินทร์ มั่นประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิษณุโลก เขต 1 (ผอ.สพป. พิษณุโลก เขต 1) กล่าวว่า ช่วงก่อนเปิดเทอมได้ไปพบผู้บริหารโรงเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคนเป็นรายกลุ่มโรงเรียน ตามโครงการ “ผู้อำนวยการเขตฯ พบเพื่อนครู” โดยได้มอบแนวคิดการบริหารงาน ผลการดำเนินงานในปีการศึกษาที่ผ่านมา มอบจุดเน้นและนโยบายของปีการศึกษา 2565 และแนวทางการดำเนินงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จากการพบปะเพื่อนครู พบว่า ภาคเรียนที่ผ่านมามีการจัดการเรียนออนไซต์ (ONSITE) สลับกับการเรียนออนไลน์ (ONLINE) โรงเรียนที่พร้อมจะสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ แต่โรงเรียนเล็กและห่างไกล ขาดความพร้อมในเรื่องอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ จึงทำให้การเรียนรู้ของนักเรียนไม่ต่อเนื่อง


ผอ.สพป.พิษณุโลก เขต 1 กล่าวอีกว่า จึงได้มอบนโยบายให้ ให้ทุกโรงเรียน ดำเนินการดังนี้
1. การเอ็กซ์เรย์ความรู้นักเรียนก่อนจะเปิดเทอมตั้งแต่วันที่ 17 -31 พฤษภาคม เพื่อให้ทราบถึงความพร้อมทางการเรียนของนักเรียน เช่น สำรวจนักเรียน ชั้น ป.1 ที่จะเลื่อนชั้น ป.2 ว่ามีความพร้อมและความรู้ที่จะเลื่อนชั้นได้เลยไหม หรือความรู้ในระดับชั้น ป.1 โดยแบ่งกลุ่มนักเรียนรายบุคคลเป็นสี คือ สีเขียว หมายถึง กลุ่มปกติพร้อมเรียนรู้ สีเหลือง หมายถึง กลุ่มที่ค่อนข้างพร้อมกลับมาเรียน อาจมีพฤติกรรมหรือความตั้งใจในการเรียนลดน้อยลง เนื่องจากหยุดเรียนออนไซต์ไปนาน และกลุ่มสีแดง หมายถึง กลุ่มนักเรียนที่ยังไม่พร้อมกับการมาเรียนแบบปกติ เช่น ไม่มีสมาธิจดจ่อ เขียนหนังสือไม่คล่อง ไม่สามารถอ่านคำหรือประโยคในระดับที่ควรอ่านได้

นายสุรินทร์ กล่าวด้วยว่า ประการที่ 2. การเอ็กซ์เรย์พฤติกรรม เนื่องจากไม่ได้มาพบครูและเพื่อนมานาน โดยสำรวจว่านักเรียนมีพฤติกรรมก้าวร้าวหรือมีภาวะเครียดหรือไม่ เมื่อเจอเพื่อนมีปฏิสัมพันธ์เป็นอย่างไร เข้าสังคมเป็นอย่างไร โดยจัดกลุ่มสีเช่นเดียวกับการการเอ๊กซเรย์ความรู้ เพราะนักเรียนบางคนไม่ได้ทานอาหารครบถ้วน หรือทานขนมมากเกินไป จึงทำให้เกิดภาวะทุพโภชนาการ หรือพฤติกรรมการติดเล่นเกมหรือติดโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น


ผอ.สพป.พิษณุโลก เขต 1 กล่าวต่อไปว่า เมื่อทำการเอ็กซ์เรย์นักเรียนแล้ว ภายใน 2 สัปดาห์ให้ครูทำการพัฒนา ซ่อมเสริม แก้ไข ปรับปรุงด้านความรู้และพฤติกรรมนักเรียน แล้วทำการเอ็กซ์เรย์นักเรียน โดยจัดลำดับกลุ่มสีอีกครั้ง เพื่อดูว่ามีการเปลี่ยนสีหรือเปล่า เช่น จากสีเหลือง (กลุ่มเสี่ยง) จะขึ้นมาเป็นสีเขียว (กลุ่มปกติ) ได้ไหม หากนักเรียนมีพัฒนาการที่ดีขึ้น จะต้องดูว่าครูมีเครื่องมือในการพัฒนานักเรียน ซึ่งถือว่าเป็นวิธีปฏิบัติที่ดี สามารถนำไปเผยแพร่ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนครูทั้งในและต่างสังกัด
เราเรียกภาวะนี้ว่า Learning Loss คือ ภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ ที่ไม่ใช่ถดถอยเพียงเรื่องการเรียนรู้อย่างเดียว แต่นักเรียนมีการถดถอยทางด้านอารมณ์และพฤติกรรมอีกด้วย

“ที่ผ่านมาพบว่าบางกลุ่มมีความพร้อม ผู้ปกครองมีเวลาดูแลช่วงไม่ได้มาเรียนที่โรงเรียน สามารถดูแลการเรียนออนไลน์อยู่บ้านได้ดี แต่เมื่อเปิดเรียนตามปกติ พบว่านักเรียนบางคนกลับกลัวที่จะเข้าสังคมกับเพื่อน หรือไม่รู้วิธีปฏิบัติตัวเมื่ออยู่กับคนหมู่มาก ซึ่งได้เน้นย้ำให้ผู้บริการและครูร่วมกับดูแลนักเรียนในความรับผิดชอบอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อผลประโยชน์ของนักเรียนเป็นสำคัญ นอกจากนี้ สพป.พิษณุโลก เขต 1 ได้จัดตั้งศูนย์ Learning Loss Center เพื่อรวบรวมข้อมูลการแก้ไขปัญหาภาวะการเรียนรู้ถดถอยของนักเรียนในระดับเขตพื้นที่การศึกษา โดยจะรวบรวมข้อมูลว่าโรงเรียนแต่ละแห่ง มีนักเรียนที่มีความถดถอยในด้านใด และควรเติมเต็มความรู้ด้านใดให้กับนักเรียนแต่ละคนบ้าง”

“โครงการดังกล่าว สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิษณุโลก เขต 1 ได้เป็นต้นแบบในการดำเนินงาน โดยผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่ได้รับเชิญให้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถ่ายทอดสดรายการ พุธเช้า ข่าว สพฐ. และการประชุมของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และมีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอื่นๆ ได้เดินทางมาศึกษาดูงาน” ผอ.สพป.พิษณุโลก เขต 1 กล่าว

 

ปรีชา นุตจรัส รายงานข่าวพิษณุโลก

Related posts