ศอ.บต. ผนึกกำลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ไขปัญหาสุขภาวะและทุพโภชนาการในเด็กเล็ก จชต. กว่า 40,000 คน หลังพบ!!!ภาวะเตี้ย แคระ แกร็น มากกว่าค่าเฉลี่ย 2 – 3 เท่า พร้อมหนุนเสริมทักษะด้านภาษาไทยทั้งในและนอกระบบ

ศอ.บต. ผนึกกำลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ไขปัญหาสุขภาวะและทุพโภชนาการในเด็กเล็ก จชต. กว่า 40,000 คน หลังพบ!!!ภาวะเตี้ย แคระ แกร็น มากกว่าค่าเฉลี่ย 2 – 3 เท่า พร้อมหนุนเสริมทักษะด้านภาษาไทยทั้งในและนอกระบบ

จากความพยายามของรัฐบาลที่ต้องการแก้ไขปัญหาและยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในทุกช่วงวัย โดยเฉพาะด้านปัญหาสุขภาวะและทุพโภชนาการในเด็กเล็ก ที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเด็กทั้งทางด้านสติปัญญา การเรียนรู้ และร่างกายมีภาวะเตี้ยแคระแกร็นมากกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ 2 – 3 เท่า ซึ่งสาเหตุหลักนั้นมาจากปัญหาความยากจนของครอบครัวที่มีรายได้ไม่เพียงพอ รวมถึงผู้ปกครองยังขาดความรู้ความเข้าใจด้านโภชนาการของเด็ก จึงส่งผลทำให้ตั้งแต่ในครรภ์มารดาเด็กไม่ได้รับสารอาหารที่ดีและครบถ้วนเท่าที่ต้องการ อีกทั้งในอดีตระบบสาธารณสุขที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลยังขาดแคลนอุปกรณ์ที่ได้รับมาตรฐานส่งผลทำให้เด็กที่เกิดมามีน้ำหนักไม่ผ่านเกณฑ์ตามที่กำหนด

ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จึงได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการแก้ไขปัญหาสุขภาวะและภาวะโภชนาการต่ำของเด็กเล็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้มติคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ซึ่งมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกพต. ที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและได้อนุมัติหลักตามประเด็นดังกล่าว เพื่อช่วยเหลือเด็กเล็ก 2 กลุ่มในพื้นที่เป้าหมาย 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ประจำปีงบประมาณ 2564 – 2568 (รวม 5 ปี) ซึ่งมีกว่า 46,819 คน ได้แก่ กลุ่มเด็กแรกเกิด – อายุก่อนครบ 2 ปี โดยจัดเงินช่วยเหลือค่าเลี้ยงดูรายเดือนคนละ 400 บาทต่อปี ๆ ละ 4,800 บาท จากยอดรวมกว่า 19,000 คน มีค่าใช้จ่ายปีละประมาณ 92 ล้านบาท ระยะเวลาต่อเนื่อง 5 ปี รวมวงเงินประมาณ 460 ล้านบาท และกลุ่มเด็กอายุครบ 2 ปี – ก่อนครบ 6 ปี โดยจัดเงินช่วยเหลือค่าอาหารเช่ารายเดือนคนละ 300 บาท ปีละ 3,600 จากยอดรวมกว่า 27,000 คน มีค่าใช้จ่ายปีละกว่า 99 ล้านบาท ระยะเวลาต่อเนื่อง 5 ปี รวมวงเงินประมาณ 497 ล้านบาท อีกทั้งยังได้ส่งเสริมทักษะการใช้ภาษาไทยควบคู่กับแก้ไขปัญหาสุขภาวะด้านโภชนาการต่ำของเด็กเล็กทั้งในและนอกระบบ เพื่อให้สามารถเข้าถึงและใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร ตลอดจนสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างเหมาะสม

นอกจากกลุ่มเป้าหมายเด็กเล็กทั้ง 2 กลุ่มนี้ ยังมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับวิตามินรวม MTV (Multivitamin) เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการพัฒนาร่างกายและสมอง โดยมีค่าใช้จ่ายรวมปีละ 15.7311 ล้านบาท ต่อเนื่อง 4 ปี รวมงบประมาณ 62.9247 ล้านบาท โดยการแก้ไขปัญหาตามหลักโภชนาการจำเป็นต้องจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์ในการติดตามพัฒนาการของเด็กตามเกณฑ์วัดผลด้านโภชนาการ ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรในการปฏิบัติงานในชุมชน /หมู่บ้านด้วย

ขณะที่ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565 นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ลงพื้นที่จังหวัดยะลา เพื่อติดตามและร่วมหารือแนวทางขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว ภายหลังจากที่กพต. ได้มีการอนุมัติหลักการดังกล่าว และมอบหมายให้ศอ.บต. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขับเคลื่อนโครงการ ฯ พร้อมทั้งจัดประชุมขอรับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ โดยให้หน่วยงานส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนตำบลและเทศบาลในแต่ละพื้นที่ เป็นหน่วยงานจัดทำโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณในโครงการดังกล่าว ซึ่งที่ประชุมมีมติให้จัดการประชุมหน่วยงานส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้งก่อนต้นเดือนกันยายน เพื่อสร้างความเข้าใจในแนวทางการขอรับการสนับสนุนงบประมาณ ก่อนนำมติเสนอที่ประชุมกพต.สัญจร ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ห้วงเดือนกันยายนต่อไป เพื่อเป้าหมายในการขับเคลื่อนโครงการศอ.บต. มีความมุ่งหวังที่จะลดอัตราของเด็กที่มีภาวะโภชนาการต่ำให้เท่ากับค่าเฉลี่ยของประเทศที่ควรจะดีขึ้น หากอนาคตปัญหาเหล่านี้มีแนวโน้มและทิศทางที่ดีขึ้น เด็กๆเยาวชนเหล่านี้จะได้รับการพัฒนาทั้งด้านสติปัญหา ความมั่นใจ และจะทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงดีขึ้นอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตามภายหลัง กพต.มีมติเห็นชอบโครงการดังกล่าว ส่วนงานกระทรวงศึกษาธิการ นำโดยศูนย์ขับเคลื่อนการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ดำเนินโครงการเพื่อดูแลอาหารเช้าของเด็กเล็กที่มีภาวะโภชนาการต่ำนำร่อง ภายใต้ชื่อโครงการ อาหารเช้าเพื่อน้อง นักเรียนอิ่มท้อง ผู้ปกครองอิ่มใจ ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2564 ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี จำนวน 166 โรงเรียน โดยมีนักเรียนอายุ 4-6 ปี ที่มีภาวะทุพโภชนาการเข้าร่วมโครงการกว่า 6,000 คน ทั้งนี้คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะเป็นหน่วยจัดเก็บข้อมูลเพื่อติดตามประเมินผลด้วย

 

Related posts