พลเอก ประวิตรฯ หารือทวิภาคี ดาโต๊ะ ศรี ฮัจญี ฟาดิลละห์ รัฐมนตรีอาวุโสและรัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการ ประเทศมาเลเซีย ผลักดันความร่วมมือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเสริมการค้าและการท่องเที่ยว จชต.

พลเอก ประวิตรฯ หารือทวิภาคี ดาโต๊ะ ศรี ฮัจญี ฟาดิลละห์ รัฐมนตรีอาวุโสและรัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการ ประเทศมาเลเซีย ผลักดันความร่วมมือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเสริมการค้าและการท่องเที่ยว จชต.

 

วันนี้ (วันศุกร์ ที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๖๕) เวลา ๐๙.๓๐ น. พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาการ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) เป็นประธานหารือทวิภาคีร่วมกับ ดาโต๊ะ ศรี ฮัจญี ฟาดิลละห์ บิน ฮัจญี ยูโซ๊ะ (YB DATO’ SRI HJ. FADILLAH BIN HJ. YUSOF ) รัฐมนตรีอาวุโสและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการ ประเทศมาเลเซีย ณ ห้องรับรอง ๓๐๓ ชั้น ๓ อาคารบัญชาการ ๑ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเร่งรัดผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ โดยเฉพาะการค้าชายแดนบริเวณชายแดนไทย-มาเลเซียที่สำคัญ ได้แก่ อำเภอตากใบและอำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส, อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา และอำเภอเมือง จังหวัดสตูล มีเป้าหมายหลักเพื่อยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพทางการค้าและการท่องเที่ยวในพื้นที่ จชต.ที่มีมูลค่าการค้าชายแดนสูงที่สุดในประเทศ ตั้งเป้าไม่น้อยปีละ ๑.๑ ล้านบาท

พลเอก ประวิตรฯ กล่าวว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งและยกระดับศักยภาพด่านศุลกากรในพื้นที่ 5 จชต. จะป็นการอำนวยความสะดวกการค้า การขนส่งสินค้าข้ามแดน การเดินทางของประชาชน การส่งเสริมการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว เป็นการพัมนาที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่และประชาชนอย่างแท้จริง อีกทั้งยังเป็นการขับเคลื่อนแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) ให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม ยังมีโครงการบางส่วนที่มีความล่าช้า เช่น การพัฒนาถนนเชื่อมด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก เป็นต้น ทำให้ไทยและมาเลเซียเสียโอกาสการพัฒนาความร่วมมือมิติต่างๆ โดยเฉพาะการยกระดับอาชีพและรายได้ของประชาชนในพื้นที่ให้สูงขึ้น ตลอดจนการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง สองประเทศให้มีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ดังนั้น การหารือกับรัฐมนตรีอาวุโสและรัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการ ประเทศมาเลเซีย ที่รับผิดชอบการพัฒนาโครงการโดยตรง จะเป็นโอกาสที่ดีที่จะเร่งรัดโครงการที่มีความล่าช้าให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะโครงการสำคัญ ๔ โครงการ ได้แก่ 1) โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก ที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส – เปิงกาลันกูโบร์ รัฐกลันตัน มาเลเซีย 2) โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก (ไทย-มาเลเซีย) แห่งที่ 2 อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส – เมืองรันเตาปันยัง รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย 3) การก่อสร้างถนนเชื่อมต่อด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่กับด่านบูกิจกายูฮิตัมของประเทศมาเลเซีย และ 4) โครงการศึกษาทางเชื่อมต่อจังหวัดสตูล-รัฐเปอร์ลิส

ด้านดาโต๊ะ ศรี ฮัจญี ฟาดิลละห์ฯ กล่าวว่า ตนพร้อมคณะผู้บริหารระดับสูงทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายราชการประจำ ที่เดินทางมาร่วมประชุมในวันนี้ รับทราบข้อเสนอของฝ่ายไทยและเห็นพ้องต้องกันที่จะร่วมมือผลักดันการพัฒนาพื้นที่ติดต่อทางชายแดนของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย เพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้ง ๒ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางสัญจรของประชาชน การเพิ่มประสิทธิภาพทางการค้าชายแดน การลงทุนและการท่องเที่ยว ทั้งนี้ ในหลายโครงการที่มีการหารือในวันนี้ ประเทศมาเลเซียมีการขับเคลื่อนการทำงานไปมากแล้ว ส่วนโครงการที่มีความล่าช้า ตนและคณะจะเร่งนำเข้าหารือคณะรัฐมนตรี ตลอดจนผู้บริหารที่เกี่ยวข้องในแต่ละโครงการโดยเร็ว และจะแจ้งความคืบหน้าแต่ละโครงการให้ฝ่ายไทยทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะได้เตรียมการจัดตั้งคณะทำงาน (Working Group) พิจารณาศึกษาการทำงานร่วมกันโดยเร็วต่อไป และขอบคุณรองนายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานชายแดนที่มีการหารือกันในวันนี้ ซึ่งตั้งความหวังว่าโครงการที่ขับเคลื่อนร่วมกันจะเป็นของขวัญให้กับประชาชนทั้งสองประเทศที่ดีที่สุด

อนึ่ง ดาโต๊ะ ศรี ฮัจญี ฟาดิลละห์ฯ เดินทางเยือนประเทศไทยในครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากปฏิสัมพันธ์เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 ดาโต๊ะ ซรี อิซมาอิล ซาบรี ยาคบ (The Hon. Dato’ Sri Ismail Sabri Yaakob) นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการตามคำเชิญของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อส่งเสริมมิตรภาพอัน แน่นแฟ้นและยาวนานระหว่างทั้งสองประเทศ ซึ่งทั้ง สองฝ่ายเห็นพ้องในการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานและเส้นทางคมนาคมทั้งทางบก ทางเรือ และอากาศ ให้คืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้ง การร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อเร่งรัดโครงการเชื่อมโยงที่ยังค้าง โดยเฉพาะการสร้างถนนเชื่อมต่อด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ – ด่านศุลกากรบูกิตกายูฮิตัม และการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งใหม่ พร้อมสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเดินทางไปมาหาสู่กันได้มากขึ้น โดยตะหนักถึงผลประโยชน์ร่วมกันจากการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดนทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายมุ่งส่งเสริมความร่วมมือในกรอบแผนงาน IMT-GT โดยตะหนักถึงความสำคัญของการร่วมมือกันใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ เกษตรกรรมและอุตสาหกรรมการเกษตร การท่องเที่ยว พร้อมส่งเสริมผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล

Related posts